เกษตรกร จ.แพร่ ปลื้มใจ จุรินทร์ฯ มอบเช็คชำระหนี้-คืนโฉนดที่ดิน

333
41
- ผู้สนับสนุนแพร่ข่าว -

……….หลังได้ลงพื้นที่จังหวัดแพร่เพื่อติดตามโครงการประกันรายได้เกษตรกรผู้ปลูกข้าว ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ และมันสำปะหลัง และเปิดงานโครงการประกันรายได้เกษตรกรผู้ปลูกข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ ปี 2563/64

……….นายสไกร พิมพ์บึง รองเลขาธิการ รักษาการในตำแหน่งเลขาธิการสำนักงานกองทุนฟื้นฟูและพัฒนาเกษตรกร (กฟก.) เปิดเผยว่า วันที่ 27 พ.ย.63 รองนายกรัฐมนตรี นายจุรินทร์  ลักษณวิศิษฏ์ ประธานกรรมการกองทุนฟื้นฟูและพัฒนาเกษตรกร ได้ลงพื้นที่จังหวัดแพร่เพื่อติดตามโครงการประกันรายได้เกษตรกรผู้ปลูกข้าว ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ และมันสำปะหลัง และเปิดงานโครงการประกันรายได้เกษตรกรผู้ปลูกข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ ปี 2563/64 ณ หอประชุมศิลปวัฒนธรรมล้านนาตะวันออกและกลุ่มประเทศอนุภาคลุ่มแม่น้ำโขง GSM (หอประชุมกอเปา) ต.ทุ่งโฮ้ง อ.เมืองแพร่ จ.แพร่

……….โอกาสนี้ได้เป็นประธานมอบเช็คชำระหนี้แทนเกษตรกรสมาชิกกองทุนฟื้นฟูและพัฒนาเกษตรกร สาขาจังหวัดแพร่ กรณีลูกหนี้สหกรณ์การเกษตรวังชิ้น จำกัด จำนวน 4 ราย รวมมูลหนี้ 1,834,423.81 บาท มอบโฉนดที่ดินคืนเกษตรกรภายหลังที่ชำระหนี้ครบสัญญา จำนวน 10 ราย สามารถรักษาที่ดินทำกินให้เกษตรกรได้ทั้งหมด 18 แปลง เนื้อที่รวม 32 ไร่ 2 งาน 93 ตารางวา

……….ในส่วนผลการดำเนินงานของจังหวัดแพร่มีเกษตรกรขึ้นทะเบียนเป็นสมาชิก กฟก. ทั้งหมด 813 องค์กร สมาชิก 71,344 คน ขึ้นทะเบียนหนี้ 8331 คน 11,972 สัญญา มูลหนี้รวม 972,570,919.44 บาท ชำระหนี้แทนแล้ว 243 คน 243 สัญญา เป็นเงิน 27,344,421.68 บาท และสนับสนุนการฟื้นฟูและพัฒนาอาชีพให้กับสมาชิก โดยการให้งบอุดหนุน ซึ่งเป็นงบประมาณที่นำไปพัฒนาความเข้มแข็งขององค์กร ต่อยอดอาชีพให้สมาชิกในชุมชน จำนวน 124 องค์กร เป็นเงิน 13,479,985 บาท โดยในปีงบประมาณ 2564 นี้ กฟก.จะเร่งอนุมัติงบประมาณเพื่อสนับสนุนเงินทุนให้องค์กรเกษตรกรนำไปพัฒนาต่อยอดอาชีพตามนโยบายของคณะกรรมการบริหารกองทุนฟื้นฟูและพัฒนาเกษตรกรต่อไป

……….จากนั้น นายกรัฐมนตรี นายจุรินทร์  ลักษณวิศิษฏ์ ประธานกรรมการกองทุนฟื้นฟูและพัฒนาเกษตรกร ได้ลงพื้นที่จังหวัดแพร่โดยในช่วงบ่ายเยี่ยมชมนิทรรศการและบูธแสดงสินค้ากิจกรรม “วันงานส้มเขียวหวานของดีเมืองแพร่ ประจำปี 2563” ซึ่งมีเกษตรกรสมาชิก กฟก. ร่วมออกบูธแสดงผลิตภัณฑ์ขององค์กรที่อำเภอวังชิ้น จ.แพร่ ด้วย

……….รองนายกรัฐมนตรีได้มีนโยบายให้พาณิชย์จังหวัดร่วมกับสำนักงานกองทุนฟื้นฟูและพัฒนาเกษตรกรพัฒนา (กฟก.) “กองทุนฟื้นฟูฯ ผลิต พาณิชย์ตลาด” ซึ่งนโยบายดังกล่าวได้เริ่มดำเนินงานไปแล้วตั้งแต่ปลายปีงบประมาณ 2563 และในปี 2564 นี้ก็มีการดำเนินงานอย่างต่อเนื่อง และเริ่มเป็นรูปธรรมมากยิ่งขึ้น มีการกำหนดเป้าหมายในการปฏิบัติงานร่วมกัน คัดเลือกองค์กรเกษตรกรสมาชิก กฟก. ที่มีความพร้อมและมีศักยภาพในการผลิตสินค้า พาณิชย์จังหวัดในฐานะเซลส์แมนจังหวัดจะให้การสนับสนุนและหาช่องทางด้านการตลาดทั้งออนไลน์และออฟไลน์ รวมไปถึงการพัฒนาสินค้าให้เกษตรกร เพื่อเป็นการยกระดับมาตรฐานสินค้าให้เป็นที่ยอมรับ กฟก.มีความพร้อมในด้านผลผลิตด้านการเกษตร ส่วนทางพาณิชย์จังหวัดมีความพร้อมเรื่องการพัฒนาผลิตภัณฑ์และหาช่องทางการจำหน่ายผลิตภัณฑ์ เป็นการสร้างโอกาสให้เกษตรกรมีรายได้เพิ่ม