(มีคลิป)นายสุรพล เกียรติไชยากร ที่ปรึกษารัฐมนตรีว่าการกระทรวงวัฒนธรรม เปิดงานประเพณี “กำฟ้าไทยพวน จังหวัดแพร่”พร้อมยกสู่งานระดับนานาชาติ

169
0
- ผู้สนับสนุนแพร่ข่าว -

วันที่ 11 กุมภาพันธ์ 2567 เวลา 19.00 น. นายสุรพล เกียรติไชยากร ที่ปรึกษารัฐมนตรีว่าการกระทรวงวัฒนธรรม เป็นประธานเปิดงานประเพณีกำฟ้าไทยพวน ประจำปี 2567 โดยมีนางยุพา ทวีวัฒนะกิจบวร ปลัดกระทรวงวัฒนธรรม ฯพณฯ คำพัน อั่นลาวัน เอกอัครรัฐทูต แห่งสาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว ประจำราชอาณาจักรไทย สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจังหวัดแพร่ ผู้ว่าราชการจังหวัดแพร่ ผู้บริหารกระทรวงวัฒนธรรม วัฒนธรรมจังหวัดพื้นที่ภาคเหนือ ประธานชมรมไทยพวนแห่งประเทศไทย และนักท่องเที่ยว เข้าร่วม ณ ลานหน้าโรงเรียนบ้านทุ่งโฮ้ง (อภิวังวิทยาลัย) และลานข้างสนามกีฬาเทศบาลตำบลทุ่งโฮ้ง อำเภอเมืองแพร่ จังหวัดแพร่

นายสุรพล เกียรติไชยากร ที่ปรึกษารัฐมนตรีว่าการกระทรวงวัฒนธรรม กล่าวว่า การจัดงานเทศกาลประเพณี เป็นอีกหนึ่งนโยบายที่สำคัญของกระทรวงวัฒนธรรม (วธ.) ที่จะขับเคลื่อน Soft Power “สร้างเสน่ห์วิถีไทย ครองใจคนทั้งโลก” ตามนโยบายของรัฐบาล โดยมีเป้าหมายที่จะยกระดับงานวัฒนธรรมเดิมให้เป็นที่ยอมรับในระดับสากล และส่งเสริมคุณค่าเทศกาลประเพณีของชาติและงานด้านวัฒนธรรมอื่นๆ ให้เป็นหมุดหมายของนักท่องเที่ยวทั่วโลก สร้างงานสร้างรายได้สู่ชุมชน กระตุ้นเศรษฐกิจของประเทศ และสร้างภาพลักษณ์ที่ดีให้แก่ประเทศไทยในเวทีนานาชาติ ล่าสุดวธ.ได้ประกาศ เทศกาลประเพณีที่มีศักยภาพและมีความโดดเด่นในการยกระดับให้เป็นงานในระดับชาติและนานาชาติ เพื่อส่งเสริมการท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรม และเผยแพร่ประเพณีศิลปวัฒนธรรมไทย ไปสู่ประเทศต่างๆ ทั่วโลก โดยประเพณีกำฟ้าไทยพวน ในจังหวัดแพร่ ได้รับการคัดเลือกเป็น 1 ใน 6 เทศกาลประเพณี เพื่อยกระดับสู่งานระดับชาติและนานาชาติ เนื่องจากเป็นประเพณีที่มีเอกลักษณ์ อัตลักษณ์ เชิดชูคุณธรรมเรื่องความกตัญญู ความดีงาม เป็นการสักการบูชาฟ้า และรำลึกถึงบรรพบุรุษชาวไทยพวน ซึ่งอพยพมาจากเมืองพวน สาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว และแสดงออกถึงความสามัคคี ซึ่งเป็นเทศกาลที่คนไทยพวนรวมใจกันเนรมิตบ้านไทยพวนโบราณ เพื่อถ่ายทอดวิถีชีวิต ภูมิปัญญา วัฒนธรรม อันน่าภาคภูมิใจสู่เด็ก เยาวชน ประชาชน อีกทั้งกลุ่มแม่บ้านไทยพวนทุ่งโฮ้งก็มีความเข้มแข็งมาก จุดประกายความคิดสร้างสรรค์ ในการประดิษฐ์ตุงหม้อห้อม จำนวน 1,500 ตุง ภายในระยะเวลาอันสั้น นำมาประดับเป็น “ถนนสายตุง ฮุ่งเฮืองไทยพวน” ได้อย่างสวยงาม สร้างความประทับใจเป็นอย่างมาก 

ด้านนายชุติเดช มีจันทร์ ผู้ว่าราชการจังหวัดแพร่ กล่าวว่า ชาวไทยพวนบ้านทุ่งโฮ้ง มีความเชื่อเรื่องพิธี “กำฟ้า” ซึ่งเป็นการสักการบูชาฟ้า ที่บันดาลให้พืชผลไร่นา ข้าวปลาอาหารอุดมสมบูรณ์ และสักการบูชาฟ้า ที่ปกปักษ์รักษาเจ้าชมพู เจ้าเมืองพวน บรรพบุรุษของชาวไทยพวน จึงมีการสร้างอนุสาวรีย์เจ้าชมพู ที่บ้านทุ่งโฮ้ง จังหวัดแพร่ แห่งนี้ ซึ่งเป็นอนุสาวรีย์เจ้าชมพูแห่งเดียวในประเทศไทย และมีการจัดงานประเพณีกำฟ้า เป็นประจำทุกปี จนกลายเป็นประเพณีที่โดดเด่นของจังหวัดแพร่ ซึ่งในปัจจุบัน บ้านทุ่งโฮ้ง มี 7 หมู่บ้าน มีประชากร 6,147 คน ประชาชนส่วนใหญ่เป็นเชื้อสายชาติพันธุ์ไทยพวน ที่อพยพมาจากเมืองพวน แขวงเมืองเชียงขวาง สาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว เมื่อประมาณปี พ.ศ. 2360 – 2380 จึงมีอัตลักษณ์ด้านภาษา การแต่งกาย วิถีชีวิต อาหารการกิน ประเพณี และวัฒนธรรมที่โดดเด่น อีกหนึ่งในอัตลักษณ์ของชาวไทยพวนบ้านทุ่งโฮ้ง ที่เป็นที่รู้จักอย่างแพร่หลาย นั่นก็คือภูมิปัญญาการทำผ้าหม้อห้อม ที่มีทั้งการผลิต จำหน่าย และส่งออกไปทั่วประเทศและต่างประเทศ จนกลายเป็นประเพณีที่โดดเด่นของจังหวัดแพร่ นอกจากนี้ยังมีสถานที่ท่องเที่ยวอีกมากมายดังคำขวัญของจังหวัดแพร่ที่ว่า หม้อห้อมไม้สัก ถิ่นรักพระลอ ช่อแฮศรีเมือง ลือเลื่องแพะเมืองผี คนแพร่นี้ใจงาม

นายวชิรพงศ์ โกสิน นายกเทศมนตรีตำบลทุ่งโฮ้ง เทศบาลตำบลทุ่งโฮ้ง ร่วมกับ กระทรวงวัฒนธรรม และจังหวัดแพร่ พร้อมด้วย ภาคีเครือข่ายทุกแห่งในจังหวัดแพร่ กำหนดจัดงานประเพณีกำฟ้าไทยพวน ประจำปี 2567 ระหว่างวันที่ 7 – 12 กุมภาพันธ์ 2567 ณ ลานข้างสนามกีฬาเทศบาลตำบลทุ่งโฮ้ง อำเภอเมืองแพร่ จังหวัดแพร่ ซึ่งมีกิจกรรมประกอบด้วย พิธีทำบุญตักบาตร และพิธีบวงสรวงเจ้าชมพู  เจ้าเมืองพวน บรรพบุรุษของชาวไทยพวน, การจัดแสดงซุ้มนิทรรศการ และขบวนแห่ วิถีชีวิตไทยพวน บอกเล่าเรื่องราวทางด้านวัฒนธรรม ประเพณี พิธีกรรมและความเชื่อ, กิจกรรมการประกวด เพื่อส่งเสริมการสร้างนวัตกรรมในการสร้างสรรค์ผลิตภัณฑ์หม้อห้อม สินค้าสำคัญจากภูมิปัญญาท้องถิ่นอันเป็นเอกลักษณ์ของตำบลทุ่งโฮ้ง อาทิ การประกวดอาหารพื้นเมือง, การประกวดนาฏศิลป์ฟ้อนแอ่น, การจัดกิจกรรมเดินแบบแฟชั่นโชว์ผ้าหม้อห้อมเพื่อต่อยอดภูมิปัญญาสู่สากล การแสดงทางศิลปวัฒนธรรมที่ตระการตา ตลอดจนการประกวดเทพีกำฟ้า อันเป็นการส่งเสริมเอกลักษณ์ และอัตลักษณ์ ในด้านขนบธรรมเนียมประเพณีของชาวไทยพวน ให้สืบทอดไปสู่อนุชนรุ่นหลังต่อไป

“ขอขอบคุณหน่วยงาน องค์กร และภาคีเครือข่ายทุกแห่งที่ร่วมขับเคลื่อนการจัดงานประเพณีกำฟ้าไทยพวนในปีนี้ ยิ่งใหญ่ตระการตา และผมขอเป็นกำลังใจให้ทุกท่าน ร่วมกับขับเคลื่อนงานด้านศาสนา ศิลปะ และวัฒนธรรม สร้างคุณค่าและมูลค่าสู่ชุมชนต่อไป และขอชื่นชมพี่น้องชาวไทยพวนทุกท่าน ที่ยังคงรักษาอัตลักษณ์ วิถีชีวิต ประเพณี วัฒนธรรมของตนเองได้เป็นอย่างดี และขอชื่นชมที่ทุกท่านร่วมแรงร่วมใจจัดงานทางวัฒนธรรมที่ยิ่งใหญ่ เป็นที่ประจักษ์แล้วว่าชาวไทยพวน มีความสมัครสมานสามัคคี รักใคร่กลมเกลียว เป็นอันหนึ่งอันเดียวกันอย่างแท้จริง” นายสุรพล กล่าวทิ้งท้าย