วันที่ 14 กันยายน 2566 อบจ.แพร่ จัดโครงการประชุมวิชาการเพื่อพัฒนากลไกการดำเนินงานโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล ภายใต้การดูแลของ อบจ.แพร่ มุ่งสู่ระบบสุขภาพปฐมภูมิ ปี 2566 และกิจกรรม “วันหมออนามัยแห่งชาติ” โดยนายชุติเดช มีจันทร์ ผวจ.แพร่ เป็นประธานในพิธีเปิดกิจกรรม พร้อมกันนี้ นายอนุวัธ วงศ์วรรณ นายก อบจ.แพร่, นพ.วิชิน โชติปฏิเวชกุล ผอ.รพ.แพร่, นายต่อพงษ์ ทับทิมโต ท้องถิ่นจังหวัดแพร่, นายประเสริฐ กิตติประภัสร์ รองนายแพทย์สาธารณสุขจังหวัดแพร่ และผู้แทนจากสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ เขต 1 ร่วมกิจกรรมด้วย



ภายในงานจัดให้มีพิธีทำบุญอุทิศส่วนกุศลแก่หมออนามัยผู้ล่วงลับ งานมุทิตาจิตแก่หมออนามัยที่เกษียณอายุราชการ การสรุปกิจกรรมงานด้านสาธารณสุขปี 2566 การแสดงของหมออนามัย การมอบของที่ระลึก กล่าวคำอวยพร แก่หมออนามัยที่เกษียณอายุราชการในปีนี้ การแสดงนิทรรศการของโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบลในสังกัด อบจ.แพร่ และการเสวนาเรื่องถอดบทเรียนการถ่ายโอนโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบลจังหวัดแพร่กับการพัฒนางานด้านสาธารณสุขระดับปฐมภูมิ





กว่า 100 ปีก่อน คนไทยในชนบทยังมีวิถีชีวิตความเป็นอยู่ที่ลำบาก ขาดความรู้ในการดูแลสุขภาพ เกิดเจ็บป่วยล้มตายด้วยโรคระบาดต่างๆ เป็นจำนวนมาก ชาวบ้านเดือดร้อนอย่างหนัก ขาดที่พึ่งพาอาศัย เนื่องจากหน่วยงานของรัฐ ไม่สามารถเข้าไปดูแลได้อย่างทั่วถึง “หมออนามัย” เป็นเจ้าหน้าที่สาธารณสุขกลุ่มแรกของที่เข้าไปมีบทบาทสำคัญในการพัฒนาสุขภาพของประชาชนในพื้นที่ห่างไกล ในท้องถิ่นทุระกันดาร เพื่อบรรเทาความทุกข์ ความเดือดร้อน ความเจ็บป่วย และเป็นที่พึ่งด้านต่างๆ ของประชาชน มีสถานบริการที่เรียกว่า โอสถสถาน สุขศาลา สำนักงานผดุงครรภ์อนามัย และมีชื่อเรียกภายหลังจนเป็นที่รู้จักกันโดยทั่วไปว่า “สถานีอนามัย” ก่อนที่จะเปลี่ยนชื่อเป็น โรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล ในปัจจุบัน



ทั้งนี้องค์การบริหารส่วนจังหวัดแพร่ รับโอนโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล ในปีงบประมาณ 2566 จำนวน 70 แห่ง และในปีงบประมาณ 2567 จะดำเนินการรับโอนอีกจำนวน 49 แห่ง และอีก 2 สถานบริการ สาธารณสุขชุมชน รวมจำนวนทั้งสิ้น 121 แห่ง ถือเป็นร้อยเปอร์เซ็นต์ของการถ่ายโอน






