(มีคลิป) ดร.วรวัจน์ฯประธานตอกหลักไม้มงคล 9 ชนิดในพิธีวางศิลาฤกษ์เจดีย์ชื่อมงคล “ผาสุก”

490
0
- ผู้สนับสนุนแพร่ข่าว -

เมื่อเวลา 09.09 น. วันที่ 15 ม.ค.66 ดร.วรวัจน์ เอื้ออภิญญกุล อดีต รมต.ว่าการกระทรวงศึกษาธิการ เป็นประธานในพิธีวางศิลากฤษ์ โดยมี นายนคร สายยืด นายอำเภอสูงเม่น นายเสรี เวียงนาค นายก อบต.เวียงทอง และ คณะผู้บริหารฯ ส.อบต.เวียงทอง นายสถานิตย์ จันทร์ใจวงศ์ กำนัน ต.เวียงทอง พร้อมกับผู้ใหญ่บ้าน-ผู้ช่วย และคณะกรรมการหมู่บ้าน คณะศรัทธา ต.เวียงทอง ร่วมพิธี โดยมี พระพระครูโกศลพิพัฒนคุณ (เสนาะ กตสาโร) เจ้าคณะอำเภอสูงเม่น เป็นประธานฝ่ายสงฆ์ และ พระสยาม สิริปญฺโญ วัดดอยจำค่าฯ จ.แพร่ เป็นเจ้าพิธี ประกอบพิธีกรรมใช้เวลานานกว่า 2 ชั่วโมง จึงเสร็จพิธีตามตำนานการสร้างพระธาตุ

สำหรับ หลักไม้มงคล 9 ชนิดมีชื่อเป็นมงคลนาม ที่ใช้ตอกเป็นหลักในจุดวางศิลาฤกษ์ ประกอบด้วย 1. ไม้ราชพฤกษ์ (อาคเณย์) หมายถึง ความเป็นใหญ่และมีอำนาจวาสนา  2. ไม้ขนุน (เหนือ) หมายถึง หนุนให้ดีขึ้นร่ำรวยขึ้น ทำอะไรจะมีผู้ให้การเกื้อ 3. ไม้ชัยพฤกษ์ (ตะวันออก) หมายถึง การมีโชคชัย ชัยชนะ  4. ไม้ทองหลาง (ศูนย์กลาง) หมายถึง การมีเงินมีทอง 5. ไม้ไผ่สีสุก (พายัพ) หมายถึง มีความสุข 6. ไม้ทรงบาดาล (อิสาน) หมายถึง ความมั่นคง หรือทำให้ บ้านมั่นคงแข็งแรง 7. ไม้สัก (ทักษิณ) หมายถึง ความมีศักดิ์ศรี ความมีเกียรติ 8. ไม้พะยูง (หรดี) หมายถึง การพยุงฐานะให้ดีขึ้น 9. ไม้กันเกรา (ปัจฉิม) หมายถึง ป้องกันภัยอันตรายต่าง ๆ หรืออีกชื่อหนึ่งว่าตำเสา ซึ่งอาจหมายถึง ทำให้เสาเรือนมั่นคง นอกจากนั้น ยังไปให้คณะสงฆ์ บิณฑบาตปัจจัย เพื่อรวบรวมปัจจัย นำไปสร้างหัวใจพระธาตุผาสุก ต่อไป

สำหรับ ประวัติความเป็นมาของวัดผาสุก พอสังเขปมีดังนี้ วัดผาสุก ตั้งอยู่บ้านผาสุก เลขที่ 130 หมู่ที่ 8 ตำบลเวียงทอง อำเภอสูงเม่น จังหวัดแพร่ ตั้งมานานเมื่อพุทธศักราช 2463 มีที่ดินตั้งวัดเนื้อที่ 2 ไร่ 1 งาน 10 ตารางวา บ้านผาสุกแต่ก่อนเป็นป่าดงดิบทึบ มีต้นไม้นานาชนิดอย่างหนาแน่น มีสัตว์อาศัยอยู่บริเวณแห่งนี้ ตั้งแต่ฝั่งแม่น้ำยมทิศตะวันตกไปดอย 

ต่อมาได้มีปู่ท้าวเสนคนหนึ่ง ซึ่งเป็นหลานของเจ้าพระยาคำเขื่อน เอาครวญช้าง(ขมุ) คนเลี้ยงช้างของพระเจ้าพระยาคำเขื่อน สร้างเรือนอยู่ 1 หลัง สร้างด้วยไม้สัก หลังคามุงด้วยแป้นเกล็ด สร้างอยู่ที่นาของนายโหล เขื่อนเพชร (ปัจจุบัน) ขณะนั้นช้างของพระเจ้าพระยาคำเขื่อน มีถึง 200 เชือก(ตัว) มีครวญช้าง 130 คน  เมื่อเข้าพรรษาปู่ท้าวเสน ไม่สามารถมาทำบุญที่วัดป่าเป้าดอนจัย (ปัจจุบัน วัดเขื่อนคำลือ) เนื่องจากน้ำท่วมฉับพลัน และเมื่อออกพรรษา ปู่ท้าวเสนได้ทำการบุกเบิกสร้างวิหารขึ้น 1 หลัง เป็นเสาไม้สัก และกุฎิ 1 หลัง มี 2 ห้อง สร้างด้วยไม้สัก หลังคามุงด้วยแป้นเกล็ด

หลังสร้างเสร็จปู่ท้าวเสนได้นิมนต์หลวงพ่อ 1 รูป (ตุ๊ลุงทา วิโลมา) หลังจากนั้นปู่ท้าวเสนและหลวงพ่อ(ตุ๊ลุงทา วิโลมา) ร่วมกันสร้างกลองสะบัดชัย(กลองปูจา) จำนวน 4 ลูก เป็นกลองไม้สัก(ปัจจุบันตั้งอยู่ที่วัดผาสุก) ต่อมามีเจ้าแม่ เดินทางมาจากในเมือง มาหาปลาช่วงปีใหม่ และมีลูกน้องติดตามมา 3 คน และได้มานั่งเล่นที่ลานผา จึงได้ตั้งชื่อว่าบ้านผาคน แต่ก่อนเรียกว่า จานผา ซึ่งมีเครือเขาเถาวัลย์ดอกไม้นานาชนิดเต็มสองข้างฝั่ง เป็นที่สนุกและสบายใจ ขณะนั่งเล่นอยู่ เห็นวัดของผู้ท้าวเสน ที่สร้างอยู่บนฝั่งและพูดว่า “วัดนี้สวยงามแต้ๆ” และได้ตั้งชื่อว่า “วัดบ้านผา”

ต่อมาหลวงพ่อ(ตุ๊ลุงทา วิโลมา) ย้ายไปอยู่ในเมือง และปู่ท้าวเสนได้เสียชีวิตลง จึงทำให้วัดนี้ กลายเป็นวัดร้าง หลังจากนั้น ครูบาศรีธิ ได้สร้างวัดขึ้นใหม่ มีวิหารหลังเล็ก มุงด้วยหญ้าคาและปลูกต้นแก้ว 1 ต้น อยู่หน้าวิหาร(ปัจจุบัน) และครูบาศรีธิได้มรณภาพ ครูบาศรีจัยหลอย ได้จำพรรษาอยู่ที่วัดนี้ และได้พาชาวบ้านขุดสร้างน้ำบ่อขึ้น 1 บ่อ เมื่อปีพุทธศักราช 2470 (ปีเถาะ) อยู่ทางทิศเหนือ(ปัจจุบัน)