อ.สอง จัดพิธียกยอสมณศักดิ์พระสงฆ์ ‘เถราภิเษก”ครั้งแรกในเมืองแพร่

162
0
- ผู้สนับสนุนแพร่ข่าว -

วันที่ 20 พ.ค.67 ที่วัดพระธาตุหนองจันทร์ ต.บ้านหนุน อ.สอง จ.แพร่ โดยหลวงพ่อพระครูบามานพ วัดพระธาตุหนองจันทร์  ได้จัดพิธียกยอสมณศักดิ์พระสงฆ์ ‘เถราภิเษก” เป็นครั้งแรกในเมืองแพร่ จำนวน 11รูปดังนี้ พระครูพิศาลบุญญาคม วัดลูนิเกต จ.แพร่ พระครูศรีพัฒนโกศล วัดสันตันหมื้อจ.เชียงใหม่ พระอธิการระชน ทีปงกโร วัดหนุนใต้ จ.แพร่ พระครูสุคนธ์นันทศีล วัดหัวเมือง จ.น่าน พระครูภาวนาเจติยานุกิจวัดถิ่นนอก จ.แพร่  พระครูปลัดอาทิตย์ อภินนโท วัดบ้านหลวง จ.เชียงใหม่ พระวิมลขันติทิพลากร วัดวังหงส์ จ.แพร่  พระครูโกวิทบวรกิจ วัดสบพลึง จ.ลำปาง พระครูประสิทธิ์คุณาธาร วัดหนุนหนือ จ.แพร่  พระครูสุธาปัญโญภาส วัดเตาปูน จ.แพร่ พระครูประจักษ์คุณานุกูล วัดคุ้มครองธรรม จ.แพร่

โดยเริ่มพิธีตั้งแต่เวลา 08.30 น.พิธีสรงน้ำพุทธาภิเษิก พิธีอ่านสุพรรณบัฎ ฯลฯ โดยมีนายศุภชัย บุญทิพย์  นายอำเภอสอง เป็นประธานฝ่ายฆรวาส….ทางเพจ เมืองสอง ระบุว่าเถราภิเษก : พิธียกยอสมณศักดิ์พระสงฆ์ในล้านนาในอดีตนั้นอาณาจักรล้านนา นับเป็นดินแดนที่พระพุทธศาสนา มีความเจริญมั่นคงมาอย่างยาวนาน อีกทั้งยังเป็นศูนย์กลางการเผยแผ่พระพุทธศาสนา ไปยังดินแดนต่างๆ ที่อยู่ใกล้เคียง เช่น เมืองเชียงตุง เขตรัฐฉาน ประเทศสหภาพพม่า เมืองเชียงรุ้ง แคว้นสิบสองพันนา สาธารณรัฐประชาชนจีน เมืองล้านช้าง สาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว เป็นต้น การที่พระพุทธศาสนามีความเจริญมั่นคงในราชอาณาจักรล้านนา เป็นผลสืบเนื่องมาจากการที่พระสงฆ์ล้านนา เป็นผู้ที่มีศีลาจารวัตรที่งดงาม และมีบทบาทในการเผยแผ่พระพุทธศาสนา จนเป็นที่ยอมรับนับถือของประชาชนโดยทั่วไป

เมื่อครั้งอดีตนั้น พระสงฆ์รูปใดมีศีลาจารวัตรที่งดงาม ประพฤติวัตรปฏิบัติชอบตามหลักพระธรรมวินัยแล้ว ย่อมเป็นที่เคารพศรัทธา และได้รับการยกย่องทั้งจากฝ่ายราชการบ้านเมือง และฝ่ายศรัทธาประชาชน ทั่วไป โดยการยกยอ (แต่งตั้ง) ให้ดํารงตําแหน่งสมณศักดิ์ในลําดับต่างๆ ตามความเหมาะสม ทั้งสมณศักดิ์ที่ได้รับการยกยอจากประชาชน เช่น สวาธุเจ้า สวาธุเจ้าหลวง (เจ้าวัดหรือเจ้าอาวาส) เจ้าธุ (ใช้เรียกขานเฉพาะพระภิกษุที่เป็นเชื้อพระวงศ์เท่านั้น) ครูบา เป็นต้น และสมณศักดิ์ที่ได้รับการยกยอจากฝ่ายราชการบ้านเมือง เช่น มหาเถระ สวามี สังฆราชา ราชครู สมเด็จ และสมเด็จอัคคราชโมลี หรือสมเด็จเสฏฐอัคคราชครู (สมเด็จราชครู) ซึ่งเป็นลำดับสมณศักดิ์สูงสุดของพระสงฆ์ล้านนาในสมัยนั้น

สมณศักดิ์ที่ได้รับการยกยอนี้ บางตําแหน่งอาจจะยกยอได้เฉพาะพระสงฆ์บางรูปที่มีคุณสมบัติพิเศษ หรือมีความเกี่ยวข้องกับพระมหากษัตริย์เท่านั้น ไม่อาจยกยอพระสงฆ์ทั่วไปได้ เช่น ตําแหน่งราชครู หรือสมเด็จราชครู ซึ่งเป็นสมณศักดิ์ที่มีไว้สําหรับยกยอเฉพาะพระสงฆ์ที่เป็นเชื้อพระวงศ์ หรือมีบทบาทเป็นครูบาอาจารย์ของเชื้อพระวงศ์ เป็นต้น

ดังนั้น การยกยอสมณศักดิ์ในแต่ละระดับชั้นนั้น ย่อมขึ้นอยู่กับคุณสมบัติสําคัญของพระสงฆ์รูปนั้นๆ 3 ประการ ได้แก่

1. ชาติวุฒิ พระสงฆ์ที่เจริญด้วยชาติกําเนิดที่ดีงาม เช่น เป็นพระมหากษัตริย์หรือเชื้อพระวงศ์ และเป็นผู้ที่เกิดในตระกูลที่มีเกียรติประวัติที่ดีงาม เป็นต้น 2. คุณวุฒิ พระสงฆ์ที่เจริญด้วยความรู้ ความสามารถ และความดีงามทั้งทางกาย วาจา และจิตใจ เป็นที่เคารพนับถือของประชาชนทั่วไป  3. วัยวุฒิ ผู้ที่เจริญด้วยวัย มีอายุพรรษามาก ถือเป็นผู้ที่มีความรอบรู้และมีประสบการณ์

ในอดีตสมณศักดิ์ของพระสงฆ์ล้านนาที่ได้รับการยกยอจากฝ่ายราชการบ้านเมืองนั้น กษัตริย์จะเป็นผู้ยกยอด้วยพระองค์เอง บุคคลทั่วไปไม่อาจยกยอได้ตามใจชอบ เมื่อทรงยกยอพระสงฆ์รูปใดแล้ว พระสงฆ์รูปนั้นก็จะเข้าสู่พิธียกยออย่างเป็นทางการ ด้วยการประกอบพิธีรดน้ําพุทธาภิเษก หรือ รดน้ําศักดิ์สิทธิ์ เรียกว่า “เถราภิเษก” โดยถือเป็นพิธีการที่ศักดิ์สิทธิ์และสําคัญยิ่ง

ปัจจุบัน แม้ว่าการยกยอสมณศักดิ์ และการประกอบพิธีเถราภิเษก ในล้านนาจะถูกยกเลิกไป หลังจากที่ราชอาณาจักรล้านนาถูกผนวกเข้า เป็นส่วนหนึ่งของราชอาณาจักรสยามจนกลายเป็นดินแดนส่วนหนึ่งที่อยู่ในเขตภาคเหนือของประเทศไทย แต่คติเหล่านี้ยังถือเป็นร่องรอยของอารยธรรมที่บ่งบอกถึงอัตลักษณ์ของชาวล้านนาประการหนึ่ง และเมื่อเกิดการรื้อฟื้นขึ้นมาอีกครั้ง นับว่าเป็นเรื่องที่ไม่ได้ง่ายเลยด้วยเหตุมาจากการขาดช่วงเป็นระยะเวลายาวนาน

ในวาระอันเป็นมงคลนี้ ทางเพจ เมืองสอง ขอกราบมุทิตาจิตแด่พระเถระทุกรูปที่ได้ยกยอสมณศักดิ์ในคราวครั้งนี้ จำนวนทั้งหมด 11 รูป โดยพิธีจัดขึ้น ณ วัดพระธาตุหนองจันทร์ ตำบลบ้านหนุน อำเภอสอง จังหวัดแพร่ วันที่ 19-20 พฤษภาคม พ.ศ.2567 ขึ้น 12-13 ค่ำ เดือน 8 เหนือ