ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ตามที่จังหวัดแพร่ ได้รับการคัดเลือกเป็น 1 ใน 10 เมืองรองที่จะยกระดับสู่เมืองท่องเที่ยวหลัก ที่มีการส่งเสริมการลงทุน และการให้อินเซ็นทีฟในพื้นที่ เพื่อขับเคลื่อนให้เกิดการลงทุน การสร้างแลนด์มาร์ก ด้านการท่องเที่ยว อาหาร วัฒนธรรม และส่งเสริมเอกลักษณ์อัตลักษณ์วัฒนธรรมไทยที่ดี เชื่อมโยงโครงการ One Family One Soft Power (OFOS) จังหวัดแพร่ จัดงานแถลงข่าวงานประเพณีสงกรานต์ “ดอกลมแล้งบาน สงกรานต์หม้อห้อม@แพร่” กิจกรรมส่งเสริมและประชาสัมพันธ์การท่องเที่ยว Phrae Creative Culture City โครงการส่งเสริมกิจกรรมการท่องเที่ยวเชิงสร้างสรรค์และพัฒนาตลาดเพื่อส่งเสริมการท่องเที่ยวยั่งยืน เมื่อเย็นวันเสาร์ที่ 30 มีนาคม 2567 เวลา 17.00 น. ที่ข่วงหน้าบ้านวงศ์บุรี ต.ในเวียง อ.เมืองแพร่ จ.แพร่

นำแถลงข่าวโดยนายชุติเดช มีจันทร์ ผู้ว่าราชการจังหวัดแพร่ เป็นประธานงานแถลงข่าวฯ พร้อมผู้ร่วมแถลงข่าว นายโชคชัย พนมขวัญ นายกเทศมนตรีเทศบาลเมืองแพร่ นายอนันต์ สีแดง ผู้อำนวยการการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทยสำนักงานแพร่ นายจักริน เป็นบุญ เลขานุการนายกองค์การบริหารส่วนจังหวัดแพร่ และนางเสาวลักษณ์ วิสุทธิผล ตัวแทนภาคเอกชน นายกสมาคมธุรกิจท่องเที่ยวจังหวัดแพร่

โดยในการแถลงข่าวผู้ว่าราชการจังหวัดแพร่ได้กล่าวว่าการที่จังหวัดแพร่ ได้รับการคัดเลือกเป็น 1 ใน 10 เมืองรองที่จะยกระดับสู่เมืองท่องเที่ยวหลัก ที่มีการส่งเสริมการลงทุน และการให้อินเซ็นทีฟในพื้นที่ เพื่อขับเคลื่อนให้เกิดการลงทุน การสร้างแลนด์มาร์ก ด้านการท่องเที่ยว อาหาร วัฒนธรรม และส่งเสริมเอกลักษณ์อัตลักษณ์วัฒนธรรมไทยที่ดี เชื่อมโยงโครงการ One Family One Soft Power (OFOS) โดยในปีงบประมาณ 2567 จังหวัดแพร่ได้วางแผนขับเคลื่อนและส่งเสริมการท่องเที่ยวต่อเนื่องตลอดทั้งปี ตั้งแต่ต้นปีงบประมาณ โดยเราตั้งเป้าหมายรายได้จากการท่องเที่ยวไว้ที่ 3,500 ล้านบาท และประกอบกับในปีนี้ยูเนสโก (UNESCO) ประกาศให้ “สงกรานต์ไทย” ขึ้นทะเบียนเป็นมรดกทางวัฒนธรรมที่จับต้องไม่ได้ของมนุษยชาติ และเลือกใช้ภาพสงกรานต์จากจังหวัดแพร่ เป็นภาพหลักในการประกาศและเผยแพร่ไปในช่องทาง Social Media ต่างๆ และบนเว็ปไซต์สำนักข่าวทั่วโลก จังหวัดแพร่จึงควรใช้โอกาสนี้ประชาสัมพันธ์สร้างการรับรู้และเชิญชวนนักท่องเที่ยวทั้งชาวไทยและชาวต่างประเทศ เดินทางมาสัมผัสบรรยากาศสงกรานต์แพร่ ซึ่งได้รับการกล่าวขานว่าเป็นสงกรานต์ที่นานที่สุดในภาคเหนือ หรือสงกรานต์ท้ายสุดของล้านนา มีความเป็นเอกลักษณ์ ด้วยคนที่มาเล่นน้ำจะแต่งกายด้วยเสื้อผ้าหม้อห้อม จึงมีความจำเป็นที่จะต้องดำเนินการประชาสัมพันธ์การท่องเที่ยวอย่างต่อเนื่อง เพื่อกระตุ้นให้นักท่องเที่ยวเดินทางมาท่องเที่ยวยังจังหวัดแพร่ ก่อให้เกิดการกระตุ้นเศรษฐกิจ กระจายรายได้อันเกิดจากกระแสความนิยมของนักท่องเที่ยวที่เดินทางมาท่องเที่ยวมากขึ้น

ซึ่งเทศบาลเมืองแพร่ได้จัดกิจกรรมเตรียมต้อนรับนักท่องเที่ยวและชาวจังหวัดแพร่ อาทิ กิจกรรมตักบาตรพระสังกัจจายน์ กิจกรรมทำบุญปล่อยปลาสะเดาะเคราะห์รับโชคปีใหม่ สนุกสนานชุ่มฉ่ำกับอุโมงค์น้ำทุกวัน การประกวดอาหารพื้นเมือง การแข่งขันจุดสะโป๊ก (หนึ่งเดียวในโลก สะโป้กเมืองแป้) การแสดงดนตรีจากศิลปิน “ต่าย อรทัย” กิจกรรมนั่งรถรางฟรี “แอ่วปี๋ใหม่เมืองแป้ รอบเวียง เคียงเมก เอกลักษณ์หม้อห้อม พร้อมใจ๋สรงน้ำพระ” นอกจากนี้ยังมีการประกวดก่อเจดีย์ทรายของแต่ละชุมชนในเขตเทศบาลเมืองแพร่ งานเทศกาลลาบแป้และของกิ๋นบ้านเฮา รับชมขบวนแห่สืบสานประเพณีที่ยิ่งใหญ่ รับชมการแสดงศิลปวัฒนธรรมจากโรงเรียนในสังกัดเทศบาลเมืองแพร่ และการประกวดนางสงกรานต์เมืองแพร่ เป็นต้น ซึ่งจะจัดขึ้นในระหว่างวันที่ 13-17 เมษายน 2567

ส่วนนักท่องเที่ยวจะสามารถแอ่วสงกรานต์เมืองแป้ ไปแอ่วที่ไหนได้บ้างตามไทม์ไลน์การจัดงานดังนี้
องค์การบริหารส่วนจังหวัดแพร่ ร่วมกับ อำเภอร้องกวาง และองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น จัดกิจกรรม “สืบสานประเพณีถ้ำผานางคอย” ระหว่างวันที่ 11 – 13 เมษายน 2567 เป็นการนำเสนอของดี 10 ตำบล ในพื้นที่อำเภอร้องกวาง

อำเภอลอง ร่วมกับเทศบาลตำบลห้วยอ้อ กำหนดจัดกิจกรรมสงกรานต์ ประจำปี 2567 ระหว่างวันที่ 12 – 16 เมษายน 2567
เทศบาลเมืองแพร่ จัดเทศกาลสงกรานต์ ประจำปี 2567 ภายใต้ชื่อ “ดอกลมแล้งบาน สงกรานต์เมืองแป้ นุ่งหม้อห้อมแต๊ งามตา” ระหว่างวันที่ 13 – 17 เมษายน 2567 บริเวณข่วงวัฒนธรรมเมืองแป้ (กาดสามวัย) และในเขตเทศบาลเมืองแพร่ มีกิจกรรมต่าง ๆ เช่น จุดสะโป้ก การประกวดการทำลาบ การแข่งขันก่อเจดีย์ทราย กิจกรรมหม้อห้อม ล้อมสะโตก ขบวนแห่สงกรานต์รถแกงคั่ว เป็นต้น

อำเภอเด่นชัย ร่วมกับเทศบาลตำบลเด่นชัย จัดประเพณี “สงกรานต์เด่นชัย ร่วมใจสรงน้ำพระเจ้าแสนแซ่” วันที่ 16 เมษายน 2567 ณ ริมฝายแม่พวก หน้าที่ว่าการอำเภอเด่นชัย ประกอบด้วย ขบวนแห่สงกรานต์ และขบวนสรงน้ำพระเจ้าแสนแซ่ เป็นต้น

อำเภอเมืองแพร่ ร่วมกับเทศบาลตำบลวังหงส์ประเพณีดำหัวหงส์ (ป๋าเวณีดำหัวหงส์) ประจำปี 2567 วันที่ 16 เมษายน 2567 ณ อนุสรณ์สถานตำนานหงส์ ตำบลวังหงส์ อำเภอเมืองแพร่ จังหวัดแพร่ ภายในงานชมขบวนเครื่องสักการะดำหัวหงส์ตามประเพณี ประกอบด้วยขบวนตุงแบบโบราณล้านนา ขบวนฟ้อนรำถวายพญาหงส์ ขบวนเครื่องสักการะล้านนา การแสดง แสง สี เสียง นาฏลีลา ตอน “ประวัติศาสตร์ชาววังหงส์” ที่มีประวัติศาสตร์การสร้างบ้านแปงเมืองเชื่อมโยงกับเมืองเก่าแพร่

สงกรานต์หม้อห้อมแพร่ วันที่ 17 เมษายน 2567 ณ ถนนเจริญเมือง อำเภอเมืองแพร่ จังหวัดแพร่
อำเภอวังชิ้น มีการจัดเทศกาลสงกรานต์ ระหว่างวันที่ 16 – 21 เมษายน 2567มีประเพณีพื้นบ้าน เช่น แห่น้ำขึ้นโฮง ทำขวัญช้าง โดย หมอทำขวัญที่มีชื่อเสียง และประเพณีแห่น้ำช้าง ซึ่งจัดขึ้นทุกวันที่ 21 เมษายน ของทุกปี.




