(มีคลิป)กลุ่มชาวบ้านเวียงทอง รวมตัวที่ซอยโวยวาย สืบสานประเพณีโบราณปล่อยโคมควัน 

1145
0
- ผู้สนับสนุนแพร่ข่าว -

เมื่อเวลา 09.00 น. วันที่ 27 พ.ย.66 กลุ่มชาวบ้านที่ชื่นชอบการปล่อยโคมลอย(โคมควัน) นำโดย นายพจญ เจริญยิ่ง อายุ 65 ปี นายพงษ์เทพ ปานกัน อาย 60 ปี บ้านโพธิสุนทรหมู่ 5 ต.เวียงทอง อ.สูงเม่น จ.แพร่ รวมตัวกันที่ ซอยโวยวาย กลางหมู่บ้านเพื่อปล่อยโคมลอยที่คนรักโคมลอยในหมู่บ้าน ช่วยกันทำมาปล่อยในวันลอยกระทงของทุกปี เพื่อให้ลูกหลานได้เห็นประเพณีโบราณที่จะสูญหายไปแล้ว

โดยปีนี้ชาวบ้านมีการทำโคมลอย แบบโคมควัน จำนวน 10 ลูก ซึ่งแต่ละลูกจะมีคนที่ทำเป็นเป็นพี่เลี้ยงช่วยกันประกอบโคมจากกระว่าว โดยจะทำเป็นโคมทรงกลม และ ทรงเหลี่ยม ซึ่งจะมีวิธีการทำต่างกันออกไป แล้วจะมีการทำหางโคมลอย ซึ่งจะมีประทัดจุด เพื่อเป็นการปล่อยหาง ระหว่างที่โคมลอยขึ้นไปบนฟ้า ซึ่งจะสร้างความตื่นเต้นให้ผู้ชมได้ลุ้นว่า หางโคมลูกไหนจะยาวและสวยงาม หากประทัดแตกชาวบ้านที่มาดูก็จะเฮ ลั่นบ้าน

นายพจญฯ กล่าวว่า การปล่อยโคมควัน จะจัดขึ้นทุกปี เดือนยี่ 15 ค่ำ หรือ วันลอยกระทง จากการรวมตัวกันของคนรักวัฒนธรรมในหมู่บ้าน โดยการทำโคมจากความรู้ที่สืบทอดมาแต่โบราณ ที่ได้รับการสั่งสอนการทำมาจากวัดหรือมีพระเป็นผู้สอนทำโคมในอดีต ซึ่งตอนนี้เหลือคนทำโคมเพียง 4-5 คน จึงได้รวมตัวกัน ทำโคมมาลอยทุกปี โดยจะทำบ้านใครบ้านมันก่อนจะ นำมาปล่อยรวมตัวกัน เป็นการสืบสานวัฒนธรรมโบราณ ให้กับลูกหลานได้ดู และให้สืบทอดต่อไป

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า สำหรับโคมที่ภาคเหนือ นิยมปล่อยช่วงลอยกระทงจะมีอยู่ 2 แบบ คือ โคมไฟ และ โคมควัน โดยโคมไฟจะใช้วิธีจุดใส้(ทำจากกระดาษทิชชูชุบน้ำตาเทียน)มัดด้านล่างเพื่อให้ควันไฟดันโคมที่มีขนาดเล็ก ลอยขึ้นฟ้า โดยนิยมจุดกลางคืน เพราะจะมีแสงไฟจากใส้ที่ไหม้ ส่วนโคมลอย หรือ โคมควัน จะนิยมปล่อยกลางวัน โดยใช้ควันจากยางขัดข้าวเผาในปล่อง สังกะสี และนำโคมลอยที่มีขนาดใหญ่มัดใส้ไม้แล้วเอาควันเข้าไปในโคมเพื่อให้ลอยไปบนฟ้า

ซึ่งการปล่อยโคมลอยทั้ง 2 อย่าง เป็นการปล่อยเคราะห์ปล่อยโศก ในช่วงเทศกาลลอยกระทงด้วย