เทศบาลเมืองแพร่ ร่วมสืบสานประเพณีอันดีงาม“ตักบาตรบนเมก”ทุกเช้าวันพุธ

61
0
- ผู้สนับสนุนแพร่ข่าว -

วันพุธที่ 25 ตุลาคม 2566 เวลา 07.00 น. นายโชคชัย พนมขวัญ นายกเทศมนตรีเมืองแพร่ พร้อมด้วยสมาชิกสภาเทศบาลเมืองแพร่ ผู้อำนวยการกองการศึกษา เจ้าหน้าที่กองสาธารณสุขและสิ่งแวดล้อม เจ้าหน้าที่กองการศึกษา ผู้อำนวยการสถานศึกษา คณะครูและนักเรียนโรงเรียนสาธิตเทศบาลบ้านเชตวัน ชุมชนร่องซ้อ ชุมชนพระร่วง ชุมชนศรีบุญเรือง สโมสรไลออนส์แพร่ สโมสรโรตารี สโมสรโรตารีเวียงโกศัย สโมสรฟุตบอลแพร่ยูไนเต็ด ชมรมร้านอาหารแผงลอย ชมรมช่างเสริมสวยจังหวัดแพร่ ชมรมช่างเสริมสวยเทศบาลเมืองแพร่ และคณะศรัทธาสาธุชนร่วมทำบุญตักบาตร ณ บริเวณประตูชัยกำเเพงเมืองแพร่ (เมก)

จากนั้นได้รับฟังคติธรรมจากคณะพระสงฆ์วัดสองแคว ความว่า คำว่า “สลากภัต” ในทางพระพุทธศาสนาที่เรานำมาถวายแก่พระสงฆ์มีความเป็นมาอย่างไร อาตมาขออนุญาตเท้าความในสมัยพุทธกาล ขณะที่พระพุทธเจ้าประทับอยู่ที่วัดพระเชตวันมหาวิหาร ได้เกิดเหตุชุลมุนมีนางกุมารีได้อุ้มลูกชายวิ่งหนีนางยักษ์ขินีผู้มีเวรต่อกันหลายชาติแล้วติดตามมาจะกินลูกของนาง นางกุมารีเห็นจวนตัวจะวิ่งหนีไปที่อื่นไม่ได้ จึงพาลูกวิ่งเข้าไปในวัดพระเชตวัน ในพระวิหารขณะที่พระพุทธเจ้าทรงแสดงธรรมอยู่ พระพุทธเจ้าพอทราบข่าวก็ออกมาห้ามปรามหยุดพฤติกรรมที่จองเวรของนางกุมารีและนางยักษ์ขินี ด้วยการตรัสคำสอนว่ากรรมของเจ้าทั้งสองมีมาอย่างยาวนาน “เวรย่อมไม่ระงับด้วยเวร” แล้วทรงตรัสว่าในอดีตมีแม่ไก่กับแม่แมว พอไก่ฟักลูกออกมาเป็นตัวนางแมวก็ไปแอบกินลูกไก่จนหมดครั้งแล้วครั้งเล่า จึงได้ผูกจิตอาฆาตพยาบาทชาติหน้าฉันจะกินลูกเธอ

ชาติต่อมาแม่ไก่ไปเกิดเป็นเสือและแม่แมวไปเกิดเป็นกวาง พอกวางเกิดลูกออกมาเป็นตัวนางเสือก็แอบมากินลูกกวางจนหมด จนกระทั่งกวางมาเกิดเป็นนางยักษ์ขินี ส่วนเสือก็มาเกิดเป็นนางกุมารี เมื่อคลอดลูกออกมาคนแรก มัวแต่ทำงานอยู่นางยักษ์ขินีก็แอบเอาลูกไปกิน พอคนที่สองก็โดนเอาไปกินอีก จนมาคนที่สามที่อุ้มหนีนางยักษ์ขินีมาหาพระพุทธเจ้า จึงตรัสให้ทั้งสองอโหสิกรรมต่อกันและกันเสีย เมื่ออโหสิกรรมต่อกันนางยักษ์ขินีก็ไม่บริโภคเนื้อมนุษย์อีก มาอาศัยอยู่ปลายทุ่งนาของนางกุมารี เมื่ออยู่ไปๆ มีความสามารถพิเศษ พยากรณ์บอกกล่าวเรื่อง ลมฟ้าอากาศ คือ บอกให้นางกุมารี บอกชาวบ้าน ทำนาในที่ดอนในปีฝนมาก ทำนาในที่ลุ่มในเวลาฝนแล้ง นางกุมารีและชาวบ้านได้ปฏิบัติตามทำให้ฐานะร่ำรวยขึ้น ด้วยความสำนึกในบุญคุณ จึงพากันนำเอาเครื่องอุปโภคบริโภคอาหารการกินเครื่องใช้มาสังเวยเป็นอันมาก นางยักษ์ขินีไม่สามารถที่จะบริโภคได้หมด จึงนึกถึงว่าการมีชีวิตอยู่ร่มเย็นเป็นสุขได้ทุกวันนี้เพราะคำสอนของพระพุทธเจ้า

จึงนำเอาของที่ชาวบ้านมาถวายเอาไปน้อมถวายแก่พระพุทธเจ้าที่วัดเชตวันมหาวิหาร พระพุทธเจ้าเห็นว่าของทั้งปวงนี้เกิดแก่หมู่สงฆ์ ไม่ได้เฉพาะเจาะจงแก่พระองค์เอง ก็เลยจัดเป็น “สลากภัต” โดยให้พระสงฆ์กระทำการจับตามเบอร์ด้วยหลักของอุปโลกนกรรม คือ ของที่ถวายมีทั้งของมีราคามาก ราคาน้อย ใครได้ชิ้นไหนก็รับถวายชิ้นนั้นเถิด ปฐมเหตุการณ์สลากภัตนี้จึงเป็นแนวทางในการถือปฏิบัติสืบต่อกันมา ญาติโยมทั้งหลายการถวายสลากภัตนั้นองค์สมเด็จพระพุทธเจ้าสรรเสริญว่าเป็นสังฆทาน เพราะเป็นการให้สงฆ์หมู่มากและเป็นการให้โดยไม่จำเพาะเจาะจง เรียกว่าเป็นการให้โดยปราศจากอคติทั้งปวง 

เพราะฉะนั้นวันที่ 6 พฤศจิกายน 2566 จังหวัดแพร่จัดงานประเพณีกิ๋นสลากหลวงเมืองแพร่ เพื่อสืบสานวัฒนธรรมประเพณีอันดีงาม ส่งเสริมให้ประชาชนรู้จักเอื้อเฟื้อเผื่อแผ่ แบ่งปันแก่บุพการีชนและผู้ที่ล่วงลับไปแล้ว สิ่งของที่เราให้ในสลากภัตนั้นพระภิกษุสงฆ์สามเณรรับแล้ว ก็นำไปแบ่งปันแก่ผู้ที่ยากไร้ ผู้ที่ยังขาดเหลืออยู่ เรียกว่าได้ทั้งทำบุญและทำทานในคราวเดียวกัน