(มีคลิป)ชาวบ้านถิ่นไม่ทนแล้งรวมตัวนิมนต์พระทำพิธีสวด“คาถาปลาช่อน”ขอฝนจากเทวดา

489
0
- ผู้สนับสนุนแพร่ข่าว -

เรื่องราวของชาวบ้านรวมตัวกันนิมนต์พระมาสวดคาถาขอฝน หลังจากเกิดภัยแล้งฝนไม่ตกในพื้นที่ ครั้งนี้เกิดขึ้นเมื่อเวลา 09.39 น. วันที่ 29 ส.ค.66 นายภาสกร หม้อกรอง กำนัน ต.บ้านถิ่น อ.เมืองแพร่ จ.แพร่ ร่วมกับชาวบ้าน ต.บ้านถิ่น และ ใกล้เคียง ทำการนิมนต์  พระครูภาวนาเจติยานุกิจ เจ้าอาวาสวัดถิ่นนอก ต.บ้านถิ่น อ.เมืองแพร่ จ.แพร่ และคณะสงฆ์ จำนวน 15 รูป ทำพิธีสวดคาถาปลาช่อนหรือพิธีขอฝน ตามประเพณีพิรุณศาสตร์ เทศน์ธรรม “มัจฉาพระญาปลาช่อน”  ณ ขุนต้นน้ำฮ่องฮ้าง ต.บ้านถิ่น เพื่อขอให้เทวดาดลบัลบาลให้ฝนตกด้วย

โดยพิธีการชาวบ้านได้นำชาวบ้านนำน้ำจากบ่อน้ำในบ้าน และแหล่งน้ำต่างๆ ในตำบลใส่ขวด มารวมกันในสระจำลอง จากนั้น ชาวบ้านจะทำพิธีปล่อยปลาจำลอง ซึ่งเป็นปลาที่ทำจากใบมะพร้าวสาน และ ปลาช่อนที่ทำจากไม้ ไปปล่อยในสระจำลองกลางลำห้วย เพื่อเป็นเคล็ด ก่อนจะเริ่มพิธีสวด คาถาปลาช่อน ขอฝน “คาถาปลาช่อน” หลังจากนั้น จะมีการสรงน้ำพระ เพื่อความชุ่มเย็น เมื่อเสร็จพิธีก็จะนำน้ำหยาดในพิธี ไปหยาดลงในสระจำลอง เป็นอันเสร็จพิธี

โดย นายภาสกรฯ เผยว่า ปีนี้แล้งจัดไม่มีฝนตกลงมาเลย ทำให้น้ำในอ่างในตำบลและในพื้นที่ต่างๆ ของ จ.แพร่ มีจำนวนลดลงอย่างมาก ทำให้ไม่พอเพียงต่อการทำการเกษตร และชาวบ้านในพื้นที่ บางรายต้องไถ่ข้าวที่ตายแล้งมาเป็นการปลูกข้าวโพดแทน และยังมีเกษตรกรอีกจำนวนมาก ข้าวกำลังจะตายแล้งเพราะฝนไม่ตก ชาวบ้านจึงรวมตัวกันขอนิมนต์พระมาทำการขอฝน ซึ่งเป็นความเชื่อของชาวบ้านถิ่นไทลื้อดังกล่าว

ทางด้าน พระครูภาวนาเจติยานุกิจ เจ้าอาวาสวัดถิ่นนอก เจริญพรว่า สำหรับ พิธีสวดคาถาปลาช่อนหรือพิธีขอฝน ตามประเพณีพิรุณศาสตร์ เทศน์ธรรม “มัจฉาพระญาปลาช่อน” เป็นประเพณีทางล้านนาบ้านเรา จะทำขึ้นเมื่อเวลาแห้งแล้ง ฝนไม่ตกต้องตามฤดูกาล โดยการนิมนต์พระสงฆ์ มาสวดคาถา และเทศธรรม เพื่อให้น้ำท่า สายฝนตกลงมาตามปกติเพื่อให้ข้าวกล้าในนาของชาวบ้าน อุดมสมบูรณ์ จึงได้ทำพิธีดังกล่าวขึ้น เจริญพร

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า สำหรับสิ่งที่ทำให้ชาวบ้านทึ่งก็คือระหว่างที่ทำพิธีสวดคาถาขอฝน “พญาปลาช่อน” ได้มีตั๊กแตน บินมาเกาะที่แขน 1 ตัวและไหล่ 1 ตัว ของพระครู ขณะสวดคาถาและทำพิธี โดยไม่ยอมบินหนีแม้ว่าพระครูจะเคลื่อนไหวอย่างไรก็ตาม นอกจากนั้นยังมีอีกตัว เกาะเก้าอี้ในวางสิ่งของในการทำพิธี อีก 1 ตัว รวม 3 ตัว ทำให้ชาวบ้านทึ่ง เพราะตั๊กแตนทั้ง 3 ตัว ไม่ยอมบินหนีทั้งที่มีกลิ่นรูปเทียน คละคลุ้งในเต้นท์พิธี จึงเชื่อว่าเป็นนิมิตหมายอันดีและเทวดาฟ้าดินรับรู้ถึงการสวดขอฝนในครั้งนี้.