เทศบาลเมืองแพร่ ร่วมใจสร้างบุญสร้างกุศล “ตักบาตรบนเมก” ทุกวันพุธ

36
0
- ผู้สนับสนุนแพร่ข่าว -

วันพุธที่ 14 มิถุนายน 2566 เวลา 07.00 น. สมาชิกสภาเทศบาลเมืองแพร่ พร้อมด้วยผู้อำนวยการกองการศึกษา ผู้อำนวยการกองช่าง เจ้าหน้าที่กองช่างและกองการศึกษา คณะผู้บริหารสถานศึกษาและคณะครูโรงเรียนเทศบาลวัดเหมืองแดง สโมสรไลออนส์แพร่ สโมสรโรตารี สโมสรโรตารีเวียงโกศัย สโมสรฟุตบอลแพร่ยูไนเต็ด ชมรมร้านอาหารแผงลอย ชมรมช่างเสริมสวยจังหวัดแพร่ ชมรมช่างเสริมสวยเทศบาลเมืองแพร่ และคณะศรัทธาสาธุชนร่วมทำบุญตักบาตร ณ บริเวณประตูชัยกำเเพงเมืองแพร่ (เมก)

จากนั้นได้รับฟังคติธรรมจากคณะพระสงฆ์วัดเมธังกราวาส (น้ำคือ) ความว่า วันนี้ท่านทั้งหลายได้มาทำบุญทำกุศล “บุญ” แปลว่าความดี “กุศล” แปลว่าความฉลาด หมายความว่าความฉลาดในการทำความดี ศาสนาพุทธสอนให้เรากระทำแต่ความดี ทีนี้ในประวัติพระพุทธศาสนามีบุคคลสำคัญๆ ต่างๆ มากมาย ซึ่งอาตมาได้พบเห็นจากสื่อๆ หนึ่ง เค้าได้กล่าวถึง “พระเจ้าพิมพิสาร” พระเจ้าพิมพิสารถือว่าเป็นบุคคลสำคัญในพระพุทธศาสนาอย่างมาก

เป็นบุคคลที่ทำให้เกิดการอุทิศส่วนบุญส่วนกุศล หรือว่าการกรวดน้ำครั้งแรกของพระพุทธศาสนา และท่านศรัทธาในพระพุทธเจ้ามาก ครั้งหนึ่งเคยถวายสวน ภาษาบาลีเรียกว่า “เวฬุวัน” หรือสวนป่าไผ่ พระพุทธเจ้าก็เลยสร้างวัด เป็นวัดเวฬุวนารามให้แก่พระภิกษุสงฆ์เพื่อที่จะได้มาจำพรรษาในวัดแห่งนี้ ทีนี้สิ่งที่พระพุทธเจ้าแนะนำก็คือการอุทิศส่วนบุญส่วนกุศลและการกรวดน้ำ ทำไมเราถึงต้องกรวดน้ำ เวลาเราถวายของกับพระถ้าเป็นสิ่งที่ใหญ่ ไม่สามารถยกได้เค้าก็จะให้กรวดน้ำ แต่คนไทยฉลาดเรากรวดน้ำไม่ว่าจะถวายได้หรือไม่สามารถยกมาถวายได้ แล้วพระเจ้าพิมพิสารก็นิมนต์พระพุทธเจ้าพร้อมพระสงฆ์สาวกมาฉันภัตตาหาร แล้วก็ดีใจมากที่ได้สนทนาธรรมจนลืมกรวดน้ำ ลืมอุทิศส่วนบุญส่วนกุศล คืนนั้นพอตกดึกเที่ยงคืนปรากฏว่าท่านได้ยินเสียงร้องโหยหวนทั่วพระราชวังของท่าน เกิดเหตุทำให้นอนไม่หลับ ท่านทนจนถึงตอนเช้าแล้วรีบเสด็จไปหาพระพุทธเจ้าที่วัดเวฬุวรารามว่าเหตุใดจึงมีเสียงร้องโหยหวน พระพุทธองค์ก็ยิ้มแล้วก็บอกกับพระเจ้าพิมพิสารว่าเสียงที่ท่านได้ยินนั้นเป็นเสียงพระญาติของพระองค์ที่ได้กระทำกรรมหนักจนเกิดมาเป็นเปรต ทีนี้เมื่อได้ทำบุญใหญ่เมื่อวานเป็นการถวายวัดถวายป่าไผ่สร้างเป็นวัดเวฬุวนารามขึ้น แต่ลืมอุทิศส่วนบุญส่วนกุศล ญาติเหล่านั้นอยากจะอนุโมทนาเพราะเกิดมาเป็นเปรตหลายร้อยชาติ พระเจ้าพิมพิสารก็ไม่รู้จะทำยังไงก็เลยนิมนต์พระพุทธเจ้ามาฉันภัตตาหารเพลใหม่ จากนั้นก็อุทิศส่วนบุญส่วนกุศลโดยการกรวดน้ำ อุทิศแปลว่าเจาะจง โยมทั้งหลายจะอุทิศให้ใครก็เจาะจงไปเลย

 พระพุทธเจ้าก็เลยพูดขึ้นมาว่า “อิทังเม ญาตินัง โหตุ สุขิตา โหนตุ ญาตะโย” เวลาเราไปปฏิบัติธรรมก็จะเจอคำนี้ นี่แหละคือที่มาคุณโยม ทีนี้พระเจ้าพิมพิสารเมื่อกรวดน้ำเสร็จก็กลับพระราชวังไป คืนนั้นฝันเห็นว่าญาติของท่านนั้นจะเกิดมาเป็นเปรตมีผิวพรรณสดใสงดงาม และเห็นว่าญาติของพระองค์ไม่ได้ใส่อะไรเลย เปลือยกายล่อนจ้อน ทีนี้รุ่งเช้าก็กลับไปหาพระพุทธเจ้าก็ไปถามว่าความฝันเมื่อคืนหมายถึงอะไร พระพุทธเจ้าก็ตรัสว่าเจ้าทำบุญใหญ่ก็จริง เปรตเหล่านั้นกลายเป็นเทวดาก็จริง แต่มหาบพิตรลืมอุทิศผ้าไตรจีวรให้กับพระภิกษุสงฆ์ พระเจ้าพิมพิสารก็เลยอุทิศผ้าไตรจีวรให้กับพระภิกษุสงฆ์ คืนนั้นก็ฝันอีกว่าญาติของท่านแต่งตัวสวยสดงดงามมาร่ำลาพระองค์

ตั้งแต่นั้นมาพระเจ้าพิมพิสารก็ไมเคยเจอญาติของพระองค์อีกเลย นี่คือที่มาของการกรวดน้ำ การกรวดน้ำก็คือการถวายสิ่งของที่มันยกให้ไม่ได้ สิ่งของที่มันใหญ่ๆ อย่างเช่น อสังหาริมทรัพย์ พื้นที่ ที่นา เป็นต้น เราก็กรวดน้ำพูดเป็นสัญลักษณ์ แต่เวลาอุทิศส่วนบุญส่วนกุศลนั้น เราพนมมือแล้วอุทิศเจาะจงลงไปว่าเราจะตั้งใจให้กับญาติ ให้ใคร หรือญาติผู้ล่วงลับดับขันธ์ไป ก็สำเร็จประโยชน์เช่นเดียวกัน นี่ก็คือความหมายของคำว่ากรวดน้ำอุทิศส่วนบุญส่วนกุศลนั่นเอง