เทศบาลตำบลร้องกวาง รับการตรวจประเมินคัดเลือกองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ที่มีการบริหารจัดการที่ดี

75
0
- ผู้สนับสนุนแพร่ข่าว -

เทศบาลตำบลร้องกวาง นำโดยนายพิพัฒน์  ซื่อทรงธรรม นายกเทศมนตรีตำบลร้องกวาง คณะผู้บริหาร หัวหน้าส่วนราชการ และภาคีเครือข่าย ต้อนรับคณะกรรมการประเมินคัดเลือกองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ที่มีการบริหารจัดการที่ดี ประจำปี 2566 จากคณะอาจารย์ที่ปรึกษาสาขาวิชาวิทยาการจัดการ มหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราช โดยเทศบาลตำบลร้องกวางได้ส่งโครงการนวัตกรรมลดความรุนแรงและเสริมสร้างความปลอดภัยในสถานศึกษา เข้าประกวด โดยการมีส่วนร่วมของหน่วยงานทั้งภาครัฐและเอกชนในเขตพื้นที่เทศบาลตำบลร้องกวาง ในวันพฤหัสบดีที่ 8 เมษายน 2566 ณ ห้องประชุมสภาเทศบาลตำบลร้องกวาง และคณะกรรมการได้ลงพื้นที่ติดตามการดำเนินงานโครงการนวัตกรรมลดความรุนแรงและเสริมสร้างความปลอดภัยในสถานศึกษา ณ โรงเรียนอนุบาลเทศบาลตำบลร้องกวาง

โครงการนวัตกรรมลดความรุนแรงและเสริมสร้างความปลอดภัยในสถานศึกษา เป็นแนวคิดที่ชุมชนและองค์กรทุกภาคส่วนร่วมกันจัดการปัญหาและป้องกันมิให้เกิดปัญหาในพื้นที่ เป็นแนวความคิดใหม่ที่ไม่มีต้นแบบจากพื้นที่อื่นหรือหน่วยงานอื่น และเกิดอรรถประโยชน์ก่อให้เกิดความเปลี่ยนแปลงในชุมชนอย่างเป็นรูปธรรม มีการใช้กลยุทธ์หลักการในดำเนินการ คือ“การปฏิรูปองค์ความรู้และเป็นองค์กรประสานสิบทิศ” สร้างหลักสูตรท้องถิ่นเพื่อพัฒนาการศึกษาและสร้างเครือข่ายความร่วมมือกันขับเคลื่อนการดำเนินงานอย่างต่อเนื่องด้วยเทคโนโลยีดิจิทัล ตอบโจทย์ความต้องการของชุมชนอย่างตรงประเด็น ส่งผลต่อการเปลี่ยนแปลงรูปแบบการจัดการศึกษาของพื้นที่บริการภายในเขตเทศบาลตำบลร้องกวาง ครอบคลุมทั้ง
3 ตำบล

ได้แก่ ตำบลร้องกวาง, ตำบลทุ่งศรี และตำบลร้องเข็ม ช่วยให้การจัดการศึกษามีคุณภาพดีขึ้นอย่างเป็นรูปธรรม สามารถเป็นต้นแบบการดำเนินงานให้กับพื้นที่อื่นได้และหากมีการขยายผลในการดำเนินการไปยังพื้นที่อื่นจะก่อให้เกิดมาตรฐานด้านการลดใช้ความรุนแรงและความปลอดภัยของผู้เรียนเพิ่มขึ้น จักเกิดความขัดแย้งในเชิงบวก เกิดแรงกระตุ้นให้เกิดการแข่งขันของผู้ให้บริการด้านการศึกษาทั้งภาครัฐและเอกชนให้ปรับปรุงคุณภาพการศึกษาให้ดียิ่งขึ้นอย่างเป็นระบบ ก่อให้เกิดการปฏิรูปทางการศึกษาท้องถิ่น โดยชุมชนและผู้เกี่ยวข้องเป็นตัวขับเคลื่อน ไม่รอการสนับสนุนจากภาครัฐในการตรวจสอบควบคุมคุณภาพการจัดการศึกษาเพียงอย่างเดียว เกิดกลไกการเปลี่ยนแปลงทางสังคมในพื้นที่เทศบาลตำบลร้องกวาง (Social Change) อย่างเป็นรูปธรรมยิ่งๆขึ้นไป ภายใต้ทฤษฎีการเปลี่ยนแปลง(Theory of Change) ของ แครอล ไวส์ (Carol Hirschon Weiss) โดยมีปัจจัยสนับสนุนต่างๆ ได้แก่ การประสานงานร่วมกันในรูปแบบเครือข่าย(Network) และการบูรณาการ (Integration) โดยมีเป้าหมายร่วมกันคือประชาชนมีความผาสุกอย่างยั่งยืน

โดยมีผู้ได้รับผลประโยชน์ทางตรง ได้แก่ ผู้เรียนในสถานศึกษาทั้งสถานศึกษาของรัฐบาลและสถานศึกษาเอกชนภายในเขตพื้นที่เทศบาลตำบลร้องกวางครอบคลุม 3 ตำบล รวมจำนวนผู้เรียนโดยประมาณ 2,701 คน (ยอดนักเรียนในปีงบประมาณ 2565 ในสถานศึกษา 14 แห่ง) และมีผู้รับผลประโยชน์ทางอ้อม ได้แก่ผู้ปกครอง และประชาชนในพื้นที่เทศบาลตำบลร้องกวาง ครอบคลุม 3 ตำบล รวมจำนวน 12,196 คน (อ้างอิงจากข้อมูลทะเบียนราษฎร์ เดือนกันยายน 2565)