




ระหว่างวันที่ 21-24 มีนาคม 2566 กองสวัสดิการสังคม เทศบาลเมืองแพร่ จัดโครงการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ชุมชน ประจำปี พ.ศ. 2566 การฝึกอบรมและศึกษาดูงาน ณ ห้องประชุมสภาเทศบาลเมืองแพร่ ชุมชนคุณธรรมบ้านไทรน้อย (ศูนย์การเรียนรู้โฮมสเตย์ไทรน้อย) อำเภอบางบาล จังหวัดพระนครศรีอยุธยา และเทศบาลเมืองพนัสนิคม อำเภอพนัสนิคม จังหวัดชลบุรี โดยมีนายโชคชัย พนมขวัญ นายกเทศมนตรีเมืองแพร่ พร้อมด้วยคณะผู้บริหาร สมาชิกสภาเทศบาลเมืองแพร่ หัวหน้าส่วนราชการ พนักงานเทศบาล ประธานชุมชนและคณะกรรมการชุมชนทั้ง 18 ชุมชนในเขตเทศบาลเมืองแพร่ เข้าร่วมฝึกอบรม “ด้านหลักการบริหารชุมชนโดยน้อมนำหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงไปสู่การปฏิบัติจนเป็นวิถีชีวิต” และ “การให้ความรู้และทักษะเรื่องอาชีพและส่งเสริมและพัฒนาอาชีพ การกระตุ้นเศรษฐกิจและการพัฒนาผลิตภัณฑ์ในชุมชน” โดยนางญาณิฐา ออธนศิริพงศ์ ข้าราชการบำนาญ อดีตพัฒนาการ อำเภอเมืองแพร่ จากนั้นรับฟังการบรรยายเรื่อง “การพัฒนาศักยภาพของผู้นำ/คณะกรรมการชุมชนการเป็นผู้นำที่เข้มแข็ง” โดยนายเกรียงศักดิ์ เกรียงไกร ผู้อำนวยการกองสวัสดิการสังคม จากนั้นเดินทางไปศึกษาดูงาน ณ ศูนย์การเรียนรู้โฮมสเตย์ไทรน้อย รับฟังบรรยาย ห้อข้อ “การบริหารจัดการชุมชนท่องเที่ยวโฮมสเตย์ ไทรน้อย และการบรรยายภูมิปัญญาตากะลานวดเท้าเพื่อสุขภาพ” และ “การส่งเสริมอาชีพ” ลงพื้นที่ศูนย์เรียนรู้การส่งเสริมอาชีพ (ดูการสาธิต) กิจกรรมฐานเรียนรู้ 6 ฐาน ประกอบด้วย 1. ฐานการทำขนมถั่วแปบ 2. ฐานการผัดหมี่กรอบ 3. ฐานการทำขนมเม็ดขนุน 4. ฐานการปักสไบมอญ 5. ฐานการทำยาหม่องสมุนไพร และ 6. ฐานนั่งรถรางชมวิถีชีวิตของชาวชุมชนไทรน้อย



จากนั้นเดินทางไปศึกษาดูงาน ณ เทศบาลเมืองพนัสนิคม โอกาสนี้นายธวัชชัย ศรีทอง ผู้ว่าราชการจังหวัดชลบุรี พร้อมด้วยนายวิจัย อัมราลิขิต นายกเทศมนตรีเมืองพนัสนิคม และคณะฯ ร่วมให้การต้อนรับอย่างอบอุ่น พร้อมทั้งรับฟังบรรยายเรื่อง “การบริหารจัดการบ้านเมืองที่ดี ชุมชนเข้มแข็งและการจัดการท่องเที่ยวชุมชน” และ “การบริหารจัดการชุมชนพอเพียงสู่วิถีชีวิตยั่งยืนเศรษฐกิจพอเพียง” จากนั้นได้ลงพื้นที่ศูนย์เรียนรู้การส่งเสริมอาชีพการทำจักสานไม้ไผ่ส่งออกนอก ทั้งนี้เพื่อเพิ่มศักยภาพและองค์ความรู้ในบทบาทหน้าที่ของคณะกรรมชุมชนและผู้เข้าร่วมโครงการ ให้มีแนวคิดสร้างสรรค์และทันต่อยุคของการเปลี่ยนแปลง สามารถนำความรู้ แนวคิด ประสบการณ์ที่ได้รับมาประยุกต์ใช้ในการแก้ไขปัญหา เกิดความสามัคคีในหมู่คณะ ตลอดจนสามารถพัฒนาชุมชนของตนเองได้อย่างมีประสิทธิภาพและยั่งยืนตามหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงต่อไป







