เมื่อวันที่ 26 เมษายน 2565 นายพีระศักดิ์ พอจิต สมาชิกวุฒิสภา (สว.) ในฐานะประธานกรรมการดำเนินการจัดกิจกรรมอันเป็นสาธารณประโยชน์เพื่อสังคมและกิจกรรมนันทนาการของวุฒิสภา พร้อมด้วยนายวิตติ แสงสุพรรณ ประธานสภาองค์การบริหารส่วนจังหวัด (อบจ.) แพร่ นางอนงค์ เจริญวัย พัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์จังหวัด (พมจ.) แพร่ และนายชณภพ ไกรศักดิ์ อดีตนายกเทศมนตรีตำบลสูงเม่น อ.สูงเม่น จ.แพร่ ร่วมกันมอบโล่ในโครงการ “วุฒิสภา ศรัทธาคนดี” แก่นายบุญยืน สุขเสน่ห์ อดีตมิชชันนารีที่ผันตัวเองมาเป็นนักพัฒนากับบทบาทในการช่วยเหลือและพัฒนาคุณภาพชีวิตชาวมาบลีหรือเผ่าตองเหลือง อ.ร้องกวาง จ.แพร่ โดยมี นายสมหวัง พ่วงบางโพ ผวจ.แพร่ กล่าวต้อนรับ ณ ห้องประชุมจดหมายเหตุ ชั้น ศาลากลาง จ.แพร่



สำหรับนายบุญยืน สุขเสน่ห์ พร้อมครอบครัว เมื่อปี 2524 ได้ตัดสินใจย้ายมาอยู่ที่ประเทศไทยในฐานะคณะเผยแผ่ ศาสนาคริสต์ชาวอเมริกัน โดยอาศัยอยู่ในกรุงเทพฯ เป็นเวลา 6 ปี ต่อจากนั้นย้ายมาอยู่ จ.แพร่ จนมีโอกาสได้คลุกคลีกับชาวมลาบรีประมาณ 60 คน ณ บ้านห้วยฮ่อม อ.ร้องกวาง จ.แพร่ ตั้งแต่ในสมัยที่ยังไม่มีที่อยู่เป็นหลักแหล่ง แม้พื้นที่ป่าจะไร้คนจับจอง แต่แหล่งอาหารก็ลดน้อยลง จึงต้องหาของป่าเล็กๆ น้อยๆมาขาย หรือรับจ้างทำไร่ เก็บผลไม้ให้ชาวม้งแลกอาหาร ซึ่งมักจะถูกเอารัดเอาเปรียบ ได้ค่าแรงเพียงประทังชีวิต



นายบุญยืนจึงเริ่มเรียนรู้ภาษามลาบรี จนเข้าไปช่วยเหลือตั้งแต่ด้านสุขอนามัย การรักษาพยาบาล ให้ความรู้เรื่องการปลูกพืช เลี้ยงสัตว์ สอนให้สานเปลนั่ง ถักย่ามสะพายลงทุนซื้อกรรมสิทธิ์ที่ดินไม่มีเอกสารสิทธิบนเขาทั้งจากชาวบ้าน แบ่งให้ชาวมลาบรีปลูกบ้านถาวร แต่ให้อิสระในการย้ายออกไปไหนได้ทุกเมื่อ จนมาถึงวันนี้ที่ชาวมลาบรีได้มาอยู่ด้วยกัน รวมประมาณ 25 ครอบครัวทุกเพศทุกวัยรวมกันประมาณ 105 คน มีการทำไร่ทำนาของตนเองเพิ่มขึ้น มีการเลี้ยงหมู เลี้ยงไก่ ดังนั้นจะเห็นได้ว่าโดยนายบุญยืน ได้ใช้ความพยายามอยู่หลายสิบปีในการสร้างความไว้วางใจให้แกชาวมลาบรีหรือเผ่าตองเหลือง ที่อพยพย้ายถิ่นฐานกระจัดกระจายไปยังที่ต่างๆ ในป่า ให้มาตั้งหลักปักฐานเป็นหลักเป็นแหล่ง ณ บ้านห้วยฮ่อม อ.ร้องกวาง ตั้งแต่ปี 2535



ทั้งนี้การดำรงวิถีชีวิตของชาวมลาบรีมีวิถีชีวิตอยู่แบบพออยู่พอกิน ชอบอิสระ ชอบโดดเดี่ยวอยู่เฉพาะกลุ่ม เป็นคนขี้อาย หรือขี้อายบวกกับความเหนียมอายเมื่อพบปะผู้อื่นจากต่างถิ่น นอกจากนี้นายบุญยืนยังได้น้อมนำแนวคิดเศรษฐกิจพอเพียงมาใช้ในชีวิตประจำวันตลอดจนเผยแพร่ความรู้ไปยังชาวมลาบรีอีกด้วยทำให้ปัจจุบันชาวมลาบรีสามารถดำรงชีพอย่างพอเพียงและไม่เดือดร้อน ดังนั้นจึงถือได้ว่า “นายบุญยืน สุขเสน่ห์” เป็นผู้ที่มีบทบาทสำคัญในการช่วยเหลือชาวมลาบรีหรือเผ่าตองเหลืองผู้ทำให้คนไร้รัฐไร้สัญชาติกลุ่มหนึ่งที่อาศัยอยู่บนดอยทางภาคเหนือของประเทศไทยกลายเป็นกลุ่มคนที่มีคุณภาพและโอกาสในการใช้ชีวิตไม่ด้อยไปกว่าชาติพันธุ์อื่น ๆ รวมทั้งเป็นผู้ผลักดันให้ชาวมลาบรีได้รับสัญชาติไทยอีกด้วย
