เมื่อเวลา 09.30 น. วันที่ 3 เม.ย.65 ณ ห้องแกรนด์บอลรูม ชั้น 2 โรงแรมแพร่นครา ต.ในเวียง อ.เมืองแพร่ จ.แพร่ สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง (สจล.) ได้รับงบประมาณจากสำนักงาน ส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (สสว.) จัดโครงการ ฝึกอบรมและสัมมนาเชิงปฏิบัติการ (Workshop) หัวข้อ “การพัฒนาและยกระดับคลัสเตอร์ธุรกิจอาหารแปรรูปต้นแบบสู่ความเป็นเลิศ” โดยมี ผู้ช่วยศาสตรจารย์ ดร.สามารถ ดีพิจารณ์ คณบดีวิทยาลัยการจัดการ นวัตกรรมและอุตสาหกรรม สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง (สจล.) กล่าวรายงาน นายวชิระ แก้วกอ รักษาการรองผู้อำนวยการ สำนักงาน ส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (สสว.) กล่าวเปิดงานและมอบนโยบาย โดยมี นายวรวัจน์ เอื้ออภิญญกุล อดีตรัฐมนตรีหลายกระทรวง ผู้ประสานโครงการ และกลุ่มคลัสเตอร์ธุรกิจอาหารแปรรูป ตั้งแต่ ต้นน้ำ กลางน้ำ และปลายน้ำ จำนวน 75 ราย ของ 3 จังหวัด ได้แก่ จ.แพร่ จ.น่าน และ จ.ลำปาง และในระบบออนไลน์ ผ่านแอพพลิเคชั่น Zoom ทั้งในและต่างประเทศ



สำหรับโครงการดังกล่าวสำนักงานส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (สสว.) ซึ่งเป็นหน่วยงานหลักในการส่งเสริมและสนับสนุน SME ในด้านต่างๆ ได้เล็งเห็นความสำคัญของการรวมกลุ่มของผู้ประกอบการ SMEs ต่อการกระตุ้นและขับเคลื่อนเศรษฐกิจโดยรวมของประเทศ จึงได้นำเอาแนวคิดในการสนับสนุนและพัฒนาคลัสเตอร์มาเป็นเครื่องมือในการดำเนินการส่งเสริมและพัฒนาผู้ประกอบการเฉพาะกลุ่ม ซึ่งมีความต้องการความช่วยเหลือที่แตกต่างกันและจำเป็นต้องมีแนวทางการส่งเสริมและพัฒนาเฉพาะสำหรับ SMEs แต่ละกลุ่ม สร้างความเชื่อมโยงกันระหว่างผู้ประกอบการตลอดจนกระบวนการ ตั้งแต่ต้นน้ำ กลางน้ำ และปลายน้ำ โดยเน้นการนำเทคโนโลยีและวัตกรรมมาเป็นแนวทางหลัก รวมถึงการบริหารจัดการข้อมูลและการวางแผนทรัพยากรทางธุรกิจของคลัสตอร์ (Cluster Resource Planning) เพื่อให้เกิดการใช้ประโยชน์ได้อย่างสูงสุดของทรัพยากร พัฒนาและยกระดับไปสู่การเป็นคลัสเตอร์ต้นแบบ และสามารถขยายผลไปยังกลุ่มคลัสเตอร์ SMEs อื่นๆ ได้ สอดรับกับนโยบายการวางรากฐานระบบเศรษฐกิจสู่อนาคตในการพัฒนาศักยภาพของผู้ประกอบการยุคใหม่ได้อย่างมีประสิทธิภาพ อันจะนำไปสู่การพัฒนาขีดความสามารถในการแข่งขันอย่างยั่งยืนของประเทศต่อไป



ทางด้าน นายวรวัจน์ฯ เผยว่า วัตถุประสงค์การจัดอบรมในครั้งนี้เพื่อการสร้างเครือข่ายระหว่างสมาชิกในคลัสเตอร์ธุรกิจอาหารแปรรูป รวมทั้งส่งเสริมและพัฒนาคลัสเตอร์ให้สามารถยกระดับเป็นคลัสเตอร์ต้นแบบที่มีระบบบริหารจัดการที่ดีขึ้น โดยส่งเสริมการนำประโยชน์จากการนำนวัตกรรมและเทคโนโลยีมาประยุกต์ใช้ และสร้างความเข้มแข็งให้ผู้ประกอบการสามารถส่งออกตลาดทั้งในและต่างประเทศ กระตุ้นให้เกิดรายได้ที่เพิ่มขึ้นของผู้ประกอบการและเพิ่มมูลค่าทางเศรษกิจของประเทศต่อไป


