วัดสูงเม่นที่มีคัมภีร์ใบลาน 1 เดียวในโลก ประกอบพิธีขออนุญาตบูรณะวิหารพระเจ้าใจดี

207
0
- ผู้สนับสนุนแพร่ข่าว -

เมื่อเวลา 07.18 น. วันที่ 24 มี.ค.65 นายสมหวัง พ่วงบางโพ ผู้ว่าราชการจังหวัดแพร่ เป็นประธานฝ่ายฆราวาส พระครูโกศลพิพัฒนคุณเจ้าคณะอำเภอสูงเม่นเป็นประธานฝ่ายสาธารณูปการคณะสงฆ์  ในพิธีขออนุญาตบูรณะวิหารพระเจ้าใจดี ณ วัดสูงเม่น ตำบลสูงเม่น อำเภอสูงเม่น จังหวัดแพร่วัตถุประสงค์เป็นการบอกกล่าวเทวดาอารักษ์ บูรพาจารย์ ผู้ก่อสร้างเสนาสนะในอดีต เพื่อทำการบูรณปฏิสังขรณ์วิหารพระเจ้าใจดี(วัดพระธัมม์) ระยะที่ 1 ในรอบ 185 ปี  โดยมีนายศิวัช ฟูบินทร์ นายอำเภอสูงเม่น นางชลธิชา ฟูบินทร์ นายกกิ่งกาชาดอำเภอสูงเม่น วัฒนธรรมจังหวัดแพร่ สำนักงานพระพุทธศาสนาจังหวัดแพร่ นายกเทศมนตรีตำบลสูงเม่น นายกองค์การบริหารส่วนตำบลสูงเม่น กำนันผู้ใหญ่บ้านตำบลสูงเม่นและประชาชนผู้มาเข้าร่วมพิธีในครั้งนี้ ณ บริเวณหน้าวิหารพระเจ้าใจดีวัดสูงเม่น ต.สูงเม่น อ.สูงเม่น จ.แพร่

ซึ่งการบูรณะครั้งนี้ สืบเนื่องจากก่อนหน้านั้นเมื่อเดือนมิถุนายน 2563 ดาวเพดาน ศิลปะลวดลายแบบพม่า ในอุโบสถวัดสูงเม่น ร่วงลงมาจากเพดานแตกเสียหาย จำนวน 1 ชุด หลังจากนั้นคณะกรรมการวัดได้ทำการเก็บรักษาไว้ และได้ประสานสำนักศิลปากรที่ 7 เชียงใหม่ จะส่งนักโบราณคดี ไปตรวจสอบจนกระทั่งมาถึงเวลานี้ จึงได้มีการบูรณปฏิสังขรณ์ดังกล่าว

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า วัดสูงเม่น ตั้งอยู่ติดถนนยันตรกิจโกศล ในพื้นที่ ต.สูงเม่น อ.สูงเม่น จ.แพร่ ห่างจากตัวเมืองแพร่ 10 กิโลเมตร ภายในวัดมีโบราณวัตถุล้ำค่าที่น่าสนใจ ทั้งพระพุทธรูปแกะสลักด้วยไม้ พระพุทธรูปถอดชิ้นส่วนได้ เจดีย์วัดสูงเม่น พระไตรปิฎกฉบับภาษาไทยและภาษาบาลี คัมภีร์ใบลานที่สมบูรณ์มากที่สุดในประเทศไทย ภายในวัดประกอบด้วยศาสนสถานหลายแห่ง ทั้งพระอุโบสถ อันเก่าแก่ศิลปะแบบล้านนา สันนิฐานว่ามีอายุไม่น้อยกว่า 200 ปี โครงสร้างเป็นแบบทรงล้านนาพื้นเมือง ส่วนลวดลายล้านนาพื้นเมืองปนศิลปะพม่า มีเสาจำนวน 16 ต้น ลงรักสีดำ เขียว วาดลวดลายเถาวัลย์สีทอง เสาแต่ละต้นมีลวดลายที่แตกต่างกัน เพดานงดงามด้วยลวดลายแบบพม่า หลังคามุงด้วยกระเบื้องเคลือบดินเผาหน้าบันสลักเป็นรูปนาศีเกี้ยวน่ามอง

สำหรับ พระประธานในพระอุโบสถ คือ หลวงพ่อโต เป็นพระพุทธรูปปางมารวิชัย สำหรับเจดีย์วัดสูงเม่น เป็นเจดีย์ทรงหกเหลี่ยมบรรจุพระบรมธาตุและสารีริกธาตุซึ่งครูบากัญจนอรัญญวาสีมหาเถร นำมาแต่ประเทศพม่า เมื่อปี พ.ศ.2383 หอพระไตรปิฎก เป็นตึกชั้นเดียว พื้นเทคอนกรีต หลังคามุงด้วยกระเบื้องซีเมนต์ มีรางน้ำล้อมรอบเพื่อป้องกันมด ปลวก และแมลงต่าง ๆ ภายในบรรจุพระไตรปิฎกฉบับพื้นเมือง คัมภีร์ธรรม และวรรณกรรมล้านนาที่ครูบามหาเถรเจ้านำมาไว้ ถือว่าเป็นสถานที่เก็บรวบรวมวรรณกรรมภาษาล้านนามากที่สุดในประเทศไทย