เมื่อเวลา 09.00 น. วันอังคารที่ 1 เม.ย.68 ณ หอประชุมและแสดงศิลปะวัฒนธรรมตะวันออกและกลุ่มประเทศGMS กอเปา อ.เมืองแพร่ จ.แพร่ นายชัยสิทธิ์ ชัยสัมฤทธิ์ผล รอง ผวจ.แพร่ เป็นประธานเปิดการประชุมปฐมนิเทศโครงการ โครงการศึกษาความเหมาะสมการปรับปรุงโครงการชลประทานขนาดกลางในจังหวัดแพร่ นายอัศนี จารุชาต ผอ.โครงการชลประทานแพร่ กล่าวรายงาน โดยมีผู้เข้าร่วมโครงการจากทั้งหมด 8 อำเภอ และสื่อมวลชน กว่า 130 คน เข้าร่วมการปฐมนิเทศโครงการ



นายอัสนีฯ กล่าวรายงานว่า การศึกษาครั้งนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อจัดทำแผนบริหารจัดการน้ำในจังหวัดแพร่ การประเมินความเหมาะสมของการปรับปรุงโครงการชลประทานขนาดกลาง การศึกษาผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อมและสังคม พร้อมกำหนดมาตรการป้องกันและติดตามผลกระทบ รวมทั้งการพัฒนาระบบชลประทานอัจฉริยะ (Smart Irrigation) และการปรับตัวต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศด้วยระบบนิเวศ (Eba) เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพโครงการชลประทานในจังหวัดแพร่ เนื่องจากอาคารหัวงาน ระบบชลประทาน และระบบระบายน้ำของโครงการเดิมไม่สามารถรองรับความต้องการใช้น้ำที่เพิ่มขึ้นสำหรับอุปโภค – บริโภค และการเปลี่ยนแปลงการใช้ที่ดิน รวมถึงปัญหาอุทกภัยในพื้นที่ได้ ระบบโทรมาตรและเตือนภัยยังไม่เพียงพอ และอัตรากำลังคนภาครัฐจำกัด ดังนั้นจึงจำเป็นต้องศึกษาความเหมาะสมเพื่อปรับปรุงโครงการชลประทานขนาดกลางในจังหวัดแพร่ให้มีประสิทธิภาพมากขึ้น เพื่อช่วยบรรเทาปัญหาการขาดแคลนน้ำและอุทกภัย การประชุมครั้งนี้เป็นโอกาสในการรับฟังความคิดเห็น ข้อเสนอแนะและข้อวิตกกังวลจากทุกท่าน เพื่อนำไปพิจารณาปรับปรุงโครงการให้มีประสิทธิภาพสูงสุด สอดคล้องกับความต้องการของพื้นที่ และสามารถบรรเทาปัญหาการใช้น้ำได้อย่างยั่งยืน ความคิดเห็นและข้อเสนอแนะจากผู้เข้าร่วมการประชุมครั้งนี้ จะนำไปพิจารณาประกอบการศึกษาด้านวิชาการต่อไป







ทางด้าน นายชัยสิทธิ์ฯ กล่าวว่าปัจจุบัน ระบบชลประทานของจังหวัดแพร่ แม้ได้รับการบำรุงรักษาอย่างต่อเนื่องแต่ยังจำเป็นต้องปรับปรุงให้เหมาะสมกับสถานการณ์ที่เปลี่ยนแปลง โดยเฉพาะปัญหาการใช้น้ำที่เพิ่มขึ้นและผลกระทบจากสภาพภูมิอากาศ เช่น เหตุอุทกภัยรุนแรงเมื่อเดือนสิงหาคม 2567 ซึ่งสะท้อนถึงความจำเป็นในการเสริมสร้างความมั่นคงด้านน้ำและระบบป้องกันภัยพิบัติการประชุมในวันนี้จึงเป็นโอกาสสำคัญที่ทุกภาคส่วนจะร่วมกันกำหนดแนวทางการปรับปรุงโครงการชลประทาน ให้สามารถรองรับการใช้น้ำเพื่อการเกษตรอุปโภค-บริโภค ตลอดจนการป้องกันอุทกภัย และการพัฒนาระบบเตือนภัยให้มีประสิทธิภาพยิ่งขึ้นต่อไป




