(มีคลิป) นางกรวรรณ วธ.จ.แพร่นำคณะ“เปิดเส้นทางท่องเที่ยวชุมชน One Day Trip ตำบลทุ่งแล้ง”

471
0
- ผู้สนับสนุนแพร่ข่าว -

เมื่อวันที่ 29 เม.ย.66 เวลา 09.00 น.จังหวัดแพร่ เปิดกิจกรรมเปิดเส้นทางท่องเที่ยวชุมชน “One Day Trip”  ต.ทุ้งแล้ง อ.ลอง จ.แพร่ ตามโครงการส่งเสริมการท่องเที่ยวเชิงสร้างสรรค์และพัฒนาการตลาดเพื่อส่งเสริมการท่องเที่ยวยั่งยืน 2566 โดย นางกรวรรณ สุ่มมาตย์ วัฒนธรรมจังหวัดแพร่ เป็นประธานในพิธีเปิด นายทอน ใจยะกูล นายก อบต.ทุ่งแล้ง กล่าวต้อนรับคณะนักท่องเที่ยว โดยมี นางอาทิตยา หมื่นเทพ ผอ.สถานพินิจฯ จังหวัดแพร่ นางธันกมน ทรธวพงศ์ คณะกรรมาธิการการท่องเที่ยว สภาผู้แทนราษฎร การท่องเที่ยวสภาผู้แทนราษฎร นายฐิติพงศ์ วงศ์เสน หัวหน้าสำนักงาน มหาวิทยาลัยรามคำแหง สาขาวิทยบริการ เฉลิมพระเกียรติจังหวัดแพร่ และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเข้าร่วมกิจกรรมฯ ณ วัดพระธาตุปู่ตั๊บ ต.ทุ่งแล้ง อ.ลอง จ.แพร่ จากนั้นรับฟังการบรรยายประวัติความเป็นมา โดย พระผัด ปัญญาวุฒโต และคณะได้ร่วมพิธีไหว้สักการะบูชาพระธาตุปู่ตั๊บ ขอพรพระเจ้าทันใจ  

จากนั้นคณะได้ เที่ยวชมป่ายางงาม บ้านศรีดอนไชย หมู่ที่ 10 บ้านศรีดอนไชย ต.ทุ้งแล้ง อ.ลอง จ.แพร่  รับฟังการบรรยายประวัติความเป็นมา โดย ครูมัทยา ถวาย สำหรับ ป่ายางงาม ตั้งอยู่บนพื้นที่กว่า 20ไร่ กลางหมู่บ้านศรีดอนไชย ต้นยางนาเหล่านี้มีอายุเทียบได้และเท่ากับต้นยางนาบนถนน เชียงใหม่-ลำพูน หากแต่ต้นยางนา ที่นี่ยังคงสภาพความอุดมสมบูรณ์ให้กับผืนป่าได้ 100% และเป็น 1 ในผืนป่าต้นยางนาในจำนวนผืนป่าต้นยางนา เพียงไม่กี่ผืนที่สมบูรณ์ที่สุดในประเทศไทย แม้ว่ากาลเวลา จะผ่านไปนานนับร้อยกว่าปีก็ตาม ป่าต้นยางนาผืนนี้ได้รับใช้ผู้คนที่นี่มาอย่างยาวนาน มากกว่า 100 ปี นับตั้งแต่ไม่มีไฟฟ้าใช้ ชาวบ้านที่นี่ จะเจาะลำต้นยางนาเป็นโพรงแล้วใช้ไฟสุมโพรงนั้น เพื่อเอานํ้ามันยางไปใช้จุดตะเกียงส่องสว่าง และมีคนมารับซื้อนํ้ามันยางเพื่อเอาไปใส่เครื่องเรือยนต์ที่ใช้วิ่งในลำนํ้าแม่ยม ซึ่งปัจจุบันยังคงมีโพรงนํ้ามันเหล่านั้นอยู่ที่ต้นแม่หลายต้นและในพิธีเผาศพครูบาสังฆะป่ายางผืนนี้ทำหน้าที่เป็นเมรุ ชั่วคราวในการตั้งเรือลากปราสาท(ปอยล้อ) เพื่อใช้เผาศพครูบามหาสังฆะอยู่หลายองค์ ตลอดจนทำหน้าที่ให้เลขหวยกับนักเสี่ยงโชคก็ถูกเลขกันมานับไม่ถ้วน ปัจจุบันป่าต้นยางนาผืนนี้อยู่ภายใต้ “โครงการอนุรักษ์พันธุกรรมพืช อันเนื่องมาจากพระราชดำริ สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี พื้นที่ปกปักทรัพยากรท้องถิ่น (ป่ายางงาม) สนองพระราชดำริโดย องค์การบริหารส่วนตำบลทุ่งแล้ง

จากนั้นพักรับประทานอาหารกลางวัน ณ วัดศรีดอนไชย จากนั้นช่วงบ่าย รับฟังการบรรยายประวัติความเป็นมา โดย เจ้าอาวาสวัดศรีดอนไชย ไหว้สักการะบูชาพระประธานวัดศรีดอนไชย สำหรับ วัดศรีดอนไชย แต่เดิมวัดทุ่งแล้งมีพระอยู่ 2 รูป เป็นพระพี่น้องกัน พระผู้พี่มีชื่อว่า “ครูบาอภิไชย” พระผู้น้องมีชื่อว่า “ครูบาตอง” ครูบาอภิไชยผู้พี่จึงเห็นว่าการข้ามนํ้ายมมาทำบุญของคณะศรัทธาเป็นไปด้วยความลำบาก เมื่อปีพุทธศักราช 2415 ครูบาอภิไจยจึงได้มาสร้างวัดใหม่ขึ้นที่ริมฝั่ง แม่นํ้ายมด้านทิศตะวันออกของบ้านทุ่งแล้ง พื้นที่ตั้งวัดใหม่นี้ตั้งอยู่ริมฝั่งแม่นํ้ายมมีลักษณะพื้นที่เป็นดอนสูง เมื่อสร้างวัดเสร็จ จึงได้ตั้งชื่อวัดตามนามครูบาอภิไชยและลักษณะพื้นที่ตั้งวัดเป็นที่ดอนสูงว่า “วัดศรีดอนไชย”

โดยรับชมการสาธิตการทำน้ำพริกลาบ, น้ำพริกน้ำย้อย, การสานกระติ๊บใส่ข้าวเหนียว, การสานกระชอน, การทอผ้าตีนจก ผ้าสไบ ถุงย่าม สำหรับศูนย์การเรียนรู้ชุมชน (กลุ่มทอผ้าฝ้ายย้อมด้วยสีจากธรรมชาติวัดศรีดอนไชย) ผ้าฝ้ายทอมือย้อมด้วยสีจากธรรมชาติ มีกระบวนการผลิตตั้งแต่การปลูกต้นฝ้าย จนไปถึงการนำมาทอเป็นผืนผ้าภายในศูนย์การเรียนรู้มี อุปกรณ์ที่ใช้ทำเส้นด้าย และอุปกรณ์การทอผ้าแบบโบราณอยู่และใช้งานอุปกรณ์เหล่านั้นทุกชิ้น เช่น อีด , เผี่ยน , กี่ทอผ้าแบบโบราณ เป็นต้น สามารถสร้างรายได้ให้กับกลุ่ม โดยมีพระอาจารย์วรพรต เป็นผู้ริเริ่ม ส่งเสริมและให้ความรู้แก่ชาวบ้าน