
วันจันทร์ที่ 25 กรกฎาคม 2565 องค์การบริหารส่วนตำบลนาจักร จัดพิธีสดุดีวีรกรรมพระยาไชยบูรณ์ ผู้ไม่ยอมแพ้ ณ มณฑลพิธี อนุสาวรีย์พระยาไชยบูรณ์ ผู้ไม่ยอมแพ้ โดยมี นายสมหวัง พ่วงบางโพ ผู้ว่าราชการจังหวัดแพร่ เป็นประธานในพิธี พร้อมหัวหน้าส่วนราชการในพื้นที่จังหวัดแพร่ เข้าร่วมพิธี ซึ่งในครั้งนี้ มีส่วนราชการต่าง ๆ ร่วมวางพวงมาลาเพื่อรำลึกถึงพระยาไชยบูรณ์ พิธีตักบาตรข้าวสาร อาหารแห้งและพิธีทางศาสนาเพื่ออุทิศส่วนกุศลให้กับพระยาไชยบูรณ์ น.ส.สุธีรา พณะพล นายก อบต.นาจักร นำข้าราชการ-พนักงาน อบต.นาจักร ร่วมพิธีอย่างพร้อมเพรียง




สำหรับ ประวัติพระยาไชยบูรณ์เดิมชื่อ ทองอยู่ นามสกุล สุวรรณบาตร์ เป็นบุตรของพระยาศรีเทศบาล และคุณหญิงกมลจิตร เกิดที่อำเภอพิชัย จังหวัดอุตรดิตถ์ เสียชีวิตเมื่อวันที่ 27 กรกฎาคม พ.ศ. 2445 มีน้องชายร่วมสายโลหิต 1 คน พออายุได้ 21 ปี รับราชการครั้งแรกเป็นเสมียนอยู่ที่อำเภอพิชัย จังหวัดอุตรดิตถ์ อายุ 43 ปี ได้รับแต่งตั้งดำรงตำแหน่งผู้ว่าราชการจังหวัดพิจิตร อยู่ได้ 2 ปี ย้ายไปดำรงตำแหน่ง ผู้ว่าราชการจังหวัดจังหวัดพิษณุโลก และย้ายมาดำรงตำแหน่ง ผู้ว่าราชการจังหวัดแพร่ ในปี พ.ศ. 2440 ในขณะนั้นมีเจ้าหลวงผู้ปกครองเมืองแพร่ คือ เจ้าพิริยเทพวงศ์ ได้ปกครองร่วมกันระหว่างข้าหลวงกับเจ้าเมือง ในปี พ.ศ. 2443 ได้เลื่อนชั้นยศเป็นพระยาไซยบูรณ์






ต่อมาในวันที่ 25 กรกฎาคม 2445 เกิดกบฏเงี้ยวปล้นเมืองแพร่ โดยเข้าปล้นโรงพัก ที่ทำการไปรษณีย์โทรเลข ทำลายคลังหลวงและกวาดเงินสดไปทั้งหมด 37 อัฐ บุกเรือนจำเพื่อปล่อยนักโทษ และในวันที่ 27 กรกฎาคม 2445 เป็นวันที่พระยาไชยบูรณ์ต้องจบชีวิตลงอย่างน่าเวทนา บริเวณที่ตั้งอนุสาวรีย์พระยาไชยบูรณ์ในปัจจุบัน พระยาไชยบูรณ์นับเป็นวีรบุรุษที่เป็นตัวอย่าง เป็นผู้มีความรับผิดชอบต่อหน้าที่ ซื่อสัตย์ สุจริต เสียสละอย่างใหญ่หลวง ยอมสละชีวิตของตนเพื่อบ้านเมือง มีความรักชาติ กล้าหาญสมกับเป็นผู้นำโดยแท้ ไม่คิดหนีเอาชีวิตรอดแต่เพียงผู้เดียว สมควรได้รับการยกย่องสรรเสริญอย่างยิ่ง พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อม พระราชทานยศแก่พระยาไชยบูรณ์ขึ้นเป็นพระยาราชฤทธานนท์พหลภักดี และให้สร้างอนุสาวรีย์พระยาไชยบูรณ์ขึ้น เพื่อรำลึกถึงคุณงามความดีของพระยาไชยบูรณ์







